วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์มานพ ฉลาดธัญญกิจ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานคุ้มครอง ส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและพัฒนาเมืองสมุนไพร จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 1/2564 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานส่งเสริมสมุนไพรเศรษฐกิจจังหวัดนครพนมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งการส่งเสริมการปลูกสมุนไพร ส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกสมุนไพรมากขึ้นในปี 2563 เป็น 96 ไร่ ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดนครพนม เพื่อตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลที่ผลิตยาสมุนไพร การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จนเกิดรายได้แก่ชุนและลดรายจ่ายในสถานรบริการสาธารณสุข อาทิ แปลงปลูกสมุนไพรตะไคร้หอม จำนวน 10 ไร่ ผ่านมาตรฐาน GAP มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ลูกประคบ และธูปไล่ยุงสมุนไพร เกิดรายได้ 15,000-20,000 บาทต่อเดือน รวมถึงชมรมแพทย์แผนไทย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไพรรักษา มีการรวมกลุ่มปลูกสมุนไพรและแปรรูปสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันไพล ลูกประคบ สเปรย์ไล่ยุง และยาหม่องไพล เกิดเงินทุนหมุนเวียนสมาชิก จำนวน 30,000 บาท

นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมเชิงนโยบาย โดยการกำหนดนโยบายประกาศใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันทั้งจังหวัด จำนวน 5-7 รายการ และนโยบายสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรกำหนดเป้าหมายมูลค่าการซื้อยาสมุนไพรของแต่ละโรงพยาบาลในจังหวัดนครพนม จากโรงพยาบาลเรณูนคร ในอัตรา 3 บาทต่อประชากร เป็นเงิน 2,057,950 บาท ซึ่งโรงงานผลิตยาสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐ คือ โรงพยาบาลเรณูนคร สามารถผลิตยาสมุนไพร จำนวน 60 รายการ สนับสนุนให้แก่สถานบริการสาธารณสุขทั้งในจังหวัดนครพนม และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 8 รวมมูลค่ายา 4,988,992 บาท รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรประจำจังหวัดที่มีงานวิจัยรองรับ การส่งเสริมการนำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย บูรณาการสร้างเรื่องราวสนับสนุนการทองเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในจังหวัดนครพนม

จังหวัดนครพนม สนับสนุนนโยบายกระทรวงสาธารณสุขในการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ.2560-2564 ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยอย่างครบวงจร มีแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน มีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่และเครือข่ายภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านที่เข้มแข็ง มีโรงงานแปรรูปวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานสากล มีแหล่งศูนย์กลางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยครบวงจร โดยเน้นการพัฒนาทั้งระบบให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน โดยได้ถ่ายทอดเป็นยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด
ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพร โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดนครพนม และมหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีและการเกษตรนครพนม ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรและขยายตลาดสมุนไพร โดยมีหน่วยงานภาคีเครือขายที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการวิจั้บและพัฒนาบุคลากร โดยมีหน่วยงานภาคเครือข่ายมหาวิทยาลัยนครพนม คณะเทคโนโลยีและการเกษตรนครพนม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
ที่ประชุมได้พิจารณาการบริหารจัดการการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอัตลักษณ์ที่ได้รับสิทธิ์การผลิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ร่วมกับวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้มีโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชอัตลักษณ์ท้องถิ่น เพื่อเป็ลผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัดนครพนม โดยได้มีการนำสารสกัดสมุนไพรจากพื้นที่จังหวัดนครพนม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำองค์ที่ผ่านการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ ได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 3 ชนิด ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์จากกันเกรา “กันเกราแฮร์แชมพู” (Kankrao Hair Care Shampoo) 2.ผลิตภัณฑ์จากเครือหมาน้อย “เคลย์มาส์กฟอร์มูลาแคปซูล” (Clay Mask Formula Capsule) และ 3.ผลิตภัณฑ์จากมะม่วงหาว “คารันดาฟรุ๊ตลิปแคร์” (Karonda Fruit Lip Care) ซึ่งกิจกรรมต่อที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ การประชาสัมพันธ์ ยกระดับให้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำจังหวัด (ที่มีงานวิจัยรองรับ) และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชน บริษัทหรือเอกชนในจังหวัดนครพนม สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ให้เกิดรายได้ โดยผู้สนใจจะจำหน่ายให้รับจากผู้ผลิตภายในจังหวัดที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเท่านั้น โดยมอบสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมดำเนินการ
Discussion about this post