
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ของ จ.ยะลา (29 ต.ค.64) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา พบมีผู้ป่วยรายใหม่ 386 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 40,224ราย รักษาอยู่ใน รพ.6,569 ราย รักษาหายแล้ว 34,247 ราย เสียชีวิต 4 ราย (เมืองยะลา 2,บันนังสตา1,ยะหา1) เสียชีวิตสะสม 264 ราย
วันนี้ 29 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา ภายในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ,
นายเสรี เรืองกาญจน์ นายกเทศมนตรีเมืองสะเตงนอก , นายมะสดี หะยีปิ นายกเทศมนตรีตำบลท่าสาป , นายมะซากี สาและนายกเทศมนตรีตำบลบุดี ซึ่งเป็น 4 เทศบาล ที่อยู่ในเขต อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ผนึกกำลัง เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีพบตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจากสถิติจะเห็นว่าในเดือนกันยายนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 928 คน เดือนตุลาคม 2,056 คน รวมยอดสะสมทั้งสิ้น 4,189 คน และจากข้อมูลสำนักสาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเขต ต.สะเตงนอก จำนวน 2,291คน ต.บุดี จำนวน 801 คน และ ต.ท่าสาป จำนวน 540 คน ซึ่งจะเห็นว่าในแต่ละตำบลมียอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับข้อมูลจากโปรแกรมจับการเคลื่อนไหวระหว่างเมือง ชี้ให้เห็นว่าประชากรมีการเดินทางภายใน ต.สะเตง 76,869 คน คิดเป็น 76.2% ระหว่างสะเตง – สะเตงนอก 12,004 คน คิดเป็น 11.9% ระหว่างสะเตง – บุดี 1,815 คน คิดเป็น 1.8% และระหว่างสะเตง – ท่าสาป 2,320 คน คิดเป็น 2.3% ด้วยเหตุนี้เทศบาลนครยะลาจึงร่วมกับ เทศบาลเมืองสะเตงนอก เทศบาลตำบลท่าสาป และเทศบาลตำบลบุดี เพื่อหาแนวทางการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ดังกล่าว โดยหลังจากได้ประชุมหารือกัน จึงได้ออก “มาตรการลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็นของประชากร”
นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่า ทางเราผู้บริหารเทศบาลทั้ง 4 แห่งมีความตระหนักและเข้าใจปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ โดยจะเห็นว่าตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และติด 1 ใน 10 ของประเทศ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เพราะฉะนั้นทั้ง 4 เทศบาล จึงได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาซึ่งมี 4 ประเด็น คือ 1. การมีวินัยและรับผิดชอบต่อสังคม 2. การเร่งตรวจ ATK 3. การเร่งฉีดวัคซีน 4. การทำศูนย์กักโรคชุมชน (CI : Community Isolation)
และนอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ อีกวิธีที่เราหวังว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวได้ นั่นก็คือ “การลดการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น” ซึ่งหลายๆ คนคงสงสัยว่าคืออะไร จึงขอให้คำนิยามสั้นๆ ว่า อะไรก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ อันหมายถึง สิ่งที่ไม่มีจำเป็นในการดำเนินชีวิต ทั้งความไม่จำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม การศึกษา เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางต่าง ๆ เปิดอิสระแก่กัน จึงส่งผลให้การแก้ปัญหายังคงวนอยู่แบบเดิม สำหรับการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว อาจจะกำหนดเงื่อนไขการเข้าเมือง ดังนี้ 1.แสดงผลตรวจเชื้อโควิด (ATK) 2.แสดงผลการฉีดวัคซีน
3.เหตุผลในการเดินทางเข้าเมืองยะลา อาจจะให้เวลาถึงหลัง 5โมงเย็นค่อยปิดด่าน ทำสัก 2 สัปดาห์ เพื่อลดการเคลื่อนที่ของคน โดยในตอนนี้ทางเทศบาลฯ มีทีมจากส่วนกลางที่ประสานเข้ามาเพื่อจะลงพื้นที่ตรวจเชิงรุก รวมถึง อสม. ที่ผ่านการฝึกอบรม สามารถไล่ตรวจทุกบ้าน โดยใช้อุปกรณ์ที่เป็นชุด home use ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ยังช่วยในเรื่องลดการก่อเหตุอาชญากรรมอีกด้วย
นายกเทศมนตรีนครยะลา ได้กล่าวเพิ่มอีกว่า สำหรับมาตรการนี้จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน มีกำหนด 14 วัน ซึ่ง 14 วันที่เราดำเนินการนี้จะยังไม่เห็นผล แต่จะส่งผลในต้นธันวาคม ซึ่งจะทำให้ผู้คนสามารถเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ได้อย่างสนุกสนาน แต่การจะถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนทุกคน และอาจจะทำให้หลายๆ คนไม่สะดวกในการเดินทาง แต่อยากให้ทุกคนได้รับรู้ว่าการสูญเสียความไม่สะดวกในวันนี้ อาจจะเทียบไม่ได้เลยกับการสูญเสียที่ผ่านมา และมันถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกันจริงๆ
Discussion about this post