
วันที่ 16 พฤศจิกายน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน เตรียมจัดกิจกรรมยกระดับการพัฒนาเมืองเพชรบุรี พร้อมจัดงาน Phetchaburi City of Gastronomy (CHA – AM Food Festival) ทั้งนี้หลังจากวันเปิดเมืองเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเข้ามาเที่ยวหาดชะอำมากขึ้นเรื่อยๆ และนับเป็นโอกาสดีที่ทางยูเนสโกได้ประกาศให้จังหวัดเพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ด้านอาหาร จึงเร่งขับเคลื่อนตามกรอบแนวทางที่ยูเนสโกกำหนด คือการจัดให้มีกิจกรรมระยะสั้น 1 ปี และกิจกรรมระยะกลาง 2-3 ถึง 5 ปี เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างการรับรู้ร่วมกันของคนในเพชรบุรี ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมโดยการเผยแพร่กิจกรรมทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการ ปรับปรุงการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของวิถีชีวิตด้านวัฒนธรรมอาหารโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้ประสานกับทางหอการค้าและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดงานงานแรกขึ้นมาเป็นงานสำคัญในปีนี้
“สำหรับงาน Phetchaburi City of Gastronomy (CHA – AM Food Festival ครั้งที่ 1 จัดขึ้นบริเวณชายหาดชะอำ ระหว่างวันที่ 10 – 12 ธันวาคม 2564 โดยจะมีการออกร้านอาหาร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ทั้งหมดจากผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงและมีผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นอาหารสำเร็จรูปมาจำหน่ายภายใน 3 วันนี้ด้วย รวมถึง Dinner ชิมอาหารเด็ดเพชรบุรี พร้อมทั้งบูธอาหารที่มาออกร้านจากหน่วยงานต่างๆ ที่เรารังสรรค์อาหารขึ้นมาจากวัตถุดิบในพื้นที่เป็นหลัก จึงขอเรียนเชิญนักท่องเที่ยว 10-12 ธันวาคมนี้ ปักหมุดไว้ที่บริเวณหาดชะอำ เพชรบุรี มาร่วมฟื้นเศรษฐกิจ ภายใต้มาตรฐาน Clean Food Good Taste และมาตรฐาน Sha + ยืนยันความพร้อมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศมาชื่นชมสถานที่สวยงาม อาหารที่อร่อยของจังหวัดเพชรบุรี” นายณัฐวุฒิ กล่าว

ด้านนายพันธุ์ธัช หิรัญจิรวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ทุกองค์กรภาคเอกชน พร้อมจับมือขานรับพัฒนาเมืองเพชรบุรี เพื่อที่จะได้ช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันด้านเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์จากโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องผ่านช่วงความยากลำบากกันมา แต่หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเปิดเมือง จึงอยากให้เกิดภาพลักษณ์ สัญลักษณ์ของเมืองเพชรบุรีที่จะมีแต่รอยยิ้ม ให้มีความสดใสในรูปแบบต่างๆให้เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพชรบุรีมีชื่อเสียงคือเรื่องของอาหารในความหลากหลาย ที่เรามีวัตถุดิบจะเป็นมะนาว เกลือ พริก น้ำตาลที่จะผนึกหล่อหลอมกับวัฒนธรรมต่างๆที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งอาหารชาววัง อาหารพื้นถิ่น รวมอัตลักษณ์ความพิเศษของจังหวัดเพชรบุรี และพร้อมความร่วมมือของภาครัฐภาคเอกชน ทุกภาคส่วนก็จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน เดินหน้า พัฒนาเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ของ UNESCO ยกระดับนานาชาติ เรียกความสนใจให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองเพชรบุรี.
Discussion about this post