วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีเปิดการ Kick off รณรงค์ ยโสธรเปิดเมืองปลอดภัย ร่วมใจฉีดวัคซีน โควิด-19 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ปลัดจังหวัดยโสธร พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และภาคเอกชน ในจังหวัดยโสธร ร่วมพิธีครั้งนี้ โดยมี นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธรในฐานะผู้จัดกิจกรรมกล่าวรายงาน
สำหรับพิธี Kick off รณรงค์ยโสธรเปิดเมืองปลอดภัย ร่วมใจฉีดวัคซีน โควิด-19 เริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรมอบธงและสัญลักษณ์ “เปิดเมืองปลอดภัย ร่วมใจฉีดวัคซีน โควิด-19 ” แก่ตัวแทน 5 setting ประกอบด้วย 1) ส่วนราชการ/ท้องถิ่น 2) ครู/นักเรียน/บุคลากรทางการศึกษา 3) วัด/ศาสนสถาน 4) ตลาด /สถานประกอบการ /ร้านค้า และ5) หมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อให้เป็นสื่อในการรณรงค์ฉีดวัคซีนทุกพื้นที่ จากนั้น เยาวชนชมรมทูบีนัมเบอร์วันจากโรงเรียนยโสธรพิทยาคม แสดงชุดแดนซ์เซอไซส์เปิดงาน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 setting สร้างสีสันการ Kick off รณรงค์ อย่างคึกคัก
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธรได้แถลงหลังพิธีเปิด Kick off รณรงค์ ว่า ข้อมูลผลการฉีดวัคซีนของจังหวัดยโสธร ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จังหวัดยโสธร มีจำนวนประชากรในทะเบียนราษฎ์และประชากรแฝง จำนวน 535,512 คน ประชากรที่ได้รับวัคซีน จำนวน 253,607 คน คิดเป็นร้อยละ 47.36 ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 จึงมีความจำเป็น ที่ทุกฝ่ายต้องเร่งรัดดำเนินการสื่อสารให้ประชาชนมารับวัคซีนให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาล การรณรงค์จังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานทั้ง 5 setting ที่ประกอบด้วยหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกันวิเคราะห์สถานการณ์ สภาพปัญหา กำหนดกลวิธี และรูปแบบในการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมตามบริบท ของแต่ละ setting โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญการรณรงค์คือให้ชาวยโสธร ร้อยละ 90 ได้รับการฉีดวัคซีน ภายในเดือนธันวาคม 2564
ด้านนายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดทั่วโลกในปัจจุบัน พบผู้ป่วยทั้งสิ้น กว่า 260,868,725 ราย เสียชีวิต 5,206,524 ราย ในประเทศไทยพบผู้ป่วย ทั้งสิ้น กว่า 2,077,950 ราย เสียชีวิต ราว 20,613 ราย มีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ในอันดับที่ 23 ของโลก สถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 10 พบผู้ป่วย จำนวน 53,789 คนเสียชีวิต 358 คน สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดยโสธร พบผู้ป่วย จำนวน 5,966 คนเสียชีวิต 53 คน ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิต 48 รายเป็นผู้ไม่ได้รับวัคซีน อีก 5 ราย ได้รับเฉพาะวัคซีน เข็มที่ 1 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว หนึ่งในมาตรการที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คลอบคลุมประชากรอย่างน้อย ร้อยละ 70 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และ ร้อยละ 80 ในเดือนธันวาคม 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดการป่วยหนัก ลดการตาย และตามนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล สำหรับยโสธร เพื่อให้เกิดความท้าทายและเป็นแรงกระตุ้นจึงตั้งเป้าหมายให้ชาวยโสธร ร้อยละ 90 ได้รับการฉีดวัคซีน ภายในเดือนธันวาคม 2564
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร กล่าวต่ออีกว่า ข้อมูลการสำรวจทัศนคติความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ของ ประชาชนใน 5 จังหวัด ในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่าสาเหตุอันดับหนึ่งคือ กลัวผลข้างเคียงรุนแรงของวัคซีน เช่น แพ้รุนแรง อัมพาตเสียชีวิต (41%) อันดับสองมีโรคประจำตัว กลัวว่าหลังฉีดวัคชินจะทำให้โรครุนแรงขึ้น (18%) อันดับสามเข้าใจว่าตนเองยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องฉีด (16%) อันดับสี่ได้รับทราบข้อมูลด้านลบเกี่ยวกับวัคซีน (13%) และอันดับห้าไม่มีวัคซีนที่จะฉีด (9.7%) จากข้อมูลดังกล่าวทำให้ทราบว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของวัคซีน จังหวัดยโสธร ได้ปรับกลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ใช้มาตรการรณรงค์ 5 setting โดยปรับการจัดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกถึงระดับชุมชน แต่ละ Setting หากมีผลการฉีดเพิ่มขึ้น จังหวัดจะเชิดชูเกียรติ Setting ที่ดำเนินการได้ตามเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดต่อไป
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเชิญชวนชาวยโสธรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ให้เข้ามารับวัคซีนได้ที่ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน โดยยโสธรมีการปรับเพิ่มสูตรการฉีดวัคซีน เป็น 3 สูตร คือสูตรที่ 1 sinovac + AstraZeneca สูตรที่ 2 AstraZeneca + Pfizerและสูตรที่ 3 Pfizer+ Pfizer สามารถเลือกสูตรได้และคาดหวังว่าการรณรงค์ในสัปดาห์นี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ประชาชนชาวยโสธรจะได้รับวัคซีนมากขึ้นและยโสธรจะได้เปิดเมืองอย่างปลอดภัยต่อไป
Discussion about this post