ชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงมือทำนาปรังเกือบเต็มพื้นที่ โดยหันมาทำนาหว่านเพื่อประหยัดต้นทุน แต่หว่านข้าวถี่และแน่นเกินไปจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหรือแมลงศัตรูข้าวรบกวน ด้านเกษตรจังหวัดเตือนให้ชาวนาหมั่นสำรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบมีปัญหาให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ก่อนที่จะเกิดโรคหรือแมลงระบาดลุกลามเป็นวงกว้าง
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพทำนาปรัง ของชาวนาในพื้นที่ใช้น้ำโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว เขตพื้นที่ อ.เมือง อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด และอ.ฆ้องชัย พบว่าได้ลงมือทำนากันเกือบเต็มพื้นที่ โดยส่วนมากทำนาหว่าน เพราะประหยัดค่าจ้างแรงงาน ในขั้นตอนการถอนกล้า ปักดำ รวมทั้งสิ้นเปลืองค่าจ้างรถไถพรวนและตีดินหลายครั้ง
ทั้งนี้ ในฤดูกาลทำนาปรังปีนี้ หลังจากโครงชลประทานกาฬสินธุ์ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว แจ้งว่ามีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการใช้สอยทุกกิจกรรม ทั้งเพื่อการอุปโภค บริโภค และประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประมง จึงพบว่าเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ใช้น้ำดังกล่าว ได้ลงมือทำนาปรังกันเป็นบริเวณกว้าง โดยบริเวณต้นน้ำที่ได้รับน้ำก่อน ต้นข้าวกำลังเจริญเติบโต ขณะที่บริเวณกลางน้ำและปลายน้ำ กำลังอยู่ในขั้นตอนไถพรวน ตีดิน และหว่านข้าว โดยมีความหวังว่าราคาขายข้าวเปลือกนาปรัง จะได้ราคาสูงกว่าขายข้าวเปลือกนาปี
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อชาวนาที่ทำนาปรังจะได้ผลผลิตข้าวเปลือกสูง เมล็ดข้าวมีคุณภาพ สิ่งที่ชาวนาต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดคือบริหารจัดการเรื่องน้ำ ต้องมีหล่อเลี้ยงในแปลงนาอย่างเพียงพอ และระมัดระวังเรื่องโรคระบาด รวมทั้งแมลงศัตรูข้าวรบกวน เพราะหากควบคุมเรื่องน้ำไม่ได้ อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ต้นข้าวไม่เจริญงอกงาม ผลผลิตต่ำ ขณะที่หากการป้องกันโรคและแมลงไม่ได้ ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคระบาดในนาข้าวได้
นายพงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า การทำนาปรังซึ่งเป็นพืชอายุสั้น อายุประมาณ 120 วันเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปจะพบว่าชาวนาจะทำนาหว่าน ซึ่งจะทำให้ต้นข้าวหนาแน่น และเร่งการเจริญเติบโต ด้วยการใช้ปุ๋ยเร่งทั้งทางรากและทางใบ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคและแมลงศัตรูข้าวรบ กวนได้ง่าย ดังนั้น ชาวนาต้องหมั่นสำรวจแปลงนาของตนอย่างสม่ำ เสมอ หากพบเกิดโรคหรือแมลงศัตรูข้าวระบาด ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ และใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องและกำจัดศัตรูข้าว เช่น ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา สำหรับป้องกันและกำจัดโรคไหม้ข้าว และใช้เชื้อราบิวเวอเรีย สำหรับกำจัดแมลงศัตรูข้าว
ทั้งนี้เกษตรกรสามารถขอรับการสนับสนุนชีวภัณฑ์ดังกล่าว จากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงข้าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและกำจัดศัตรูข้าว ก่อนที่จะเกิดการระบาด ทำให้ต้นข้าวเสียหายและผลผลิตต่ำ อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่พบการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวรบกวนแต่อย่างใด.
Discussion about this post