วันที่ 10 ก.พ.65 นางสุภาภรณ์ กิ่งคำ ประกันสังคมจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ประกันสังคมกับแรงงานต่างด้าวนั้น สิทธิ์ที่จะได้จะได้เท่ากับคนไทยที่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนายจ้างที่มีลูกจ้างเป็นแรงงานต่างด้าวต้องมาขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมก่อนลูกจ้างจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง 7 กรณี จากกองทุนประกันสังคม ซึ่ง 7 กรณีที่ว่าประกอบไปด้วย กรณีเจ็บป่วยทั่วไป อุบัติเหตุทั่วไป จะได้ในเรื่องของการเจ็บป่วยรักษาจนหาย เมื่อเข้ามาในสิทธิ์ประกันสังคม ท่านจะได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่ท่านเลือกเอง ในจังหวัดนครพนมก็จะมีโรงพยาบาลนครพนมแล้วก็สามารถเข้าที่โรงพยาบาลเครือข่ายคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งได้โดยที่ไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย เพราะโรงพยาบาลจะมาเบิกสิทธิ์กับประกันสังคมเอง
กรณีต่อมาคือกรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนที่เป็นต่างด้าวสามารถได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย การคลอดบุตรจะได้ 2 อย่าง คือ ถ้าเป็นผู้หญิงเป็นลูกจ้างต่างด้าว ถ้าสิทธิ์เกิดจะได้รับค่าสงเคราะห์บุตร ค่าคลอดบุตร เป็นค่าเหมาจ่ายให้ท้องละ 15,000 บาท และก็เงินค่าหยุดงานเพื่อคลอดบุตรอีก 90 วันในอัตรา 50% ของค่าจ้าง แต่ถ้าเป็นผู้ประกันตนชาย ภรรยาคลอดบุตรจะได้ค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย 15,000 บาท ส่วนการสงเคราะห์หลังการคลอดจะไม่ได้ กรณีทุพพลภาพผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวทั้งชายและหญิงที่เจ็บป่วยแล้วเกิดทุพพลภาพคือพิการ ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวหรืออุบัติเหตุ จะได้ค่าทุพพลภาพรายเดือนจนกว่าจะรักษาจนหาย หรือทุพพลภาพตลอดชีวิต กรณีเสียชีวิตทั้งชายและหญิง ประกันสังคมจะจ่ายให้ทายาทหรือผู้จัดการศพในอัตราเหมาจ่าย 50,000 บาทต่อศพ นอกจากนั้นยังมีเงินสงเคราะห์การตายให้กับทายาทอีกส่วนนึงประมาณ 50% ของค่าจ้าง ตามมาด้วยกรณีเงินสงเคราะห์บุตร ซึ่งอันนี้จะจ่ายให้ผู้ประกันตนชายและหญิงโดยจะยื่นได้แค่คนเดียว ตั้งแต่ลูกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ ในอัตรารายเดือนเดือนละ 800 บาท โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีให้ทุกเดือนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของลูกจ้างจนกว่าลูกจะอายุครบ 6 ขวบ แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าผู้ประกันตนชายหรือหญิงที่เป็นแรงงานต่างด้าวยื่นสงเคราะห์บุตรเสร็จแล้วลาออกจากงานหรือเปลี่ยนสถานที่ทำงานใหม่ จะต้องแจ้งประกันสังคมให้ทราบ เพราะสิทธิ์จะขาดตั้งแต่วันที่ลาออกจากแห่งแรก เพราะฉะนั้นจะต้องมีการแจ้งสถานที่ที่อยู่ใหม่
ต่อมาคือกรณีชราภาพประกันสังคมจะจ่ายให้เมื่อผู้ประกันตนอายุครบ 55 ปี ซึ่งผู้ประกันตนชายหรือหญิงที่เป็นต่างด้าว มาทำงานที่ประเทศไทยแล้วอายุยังไม่ครบ 55 ปี แล้วออกจากงานกลับไปที่ประเทศของตัวเองก่อน เงินส่วนนี้จะคงยังเก็บไว้ให้อยู่ โดยจะต้องรอจนกว่าอายุครบ 55 ปี ระบบจึงจะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งเงื่อนไขก็คือแรงงานต่างด้าวจะต้องแจ้งที่อยู่เมื่อออกจากบริษัทแล้วกลับไปยังประเทศของตนเอง ส่วนกรณีสุดท้ายคือกรณีว่างงานผู้ประกันตนที่ออกจากงานจะได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานตลอดระยะเวลาที่ยังไม่มีงานทำ จำนวน 6 เดือน โดยขั้นตอนก็คือแรงงานต่างด้าวจะต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียนว่างงานกับสำนักงานจัดหางาน จากนั้นมายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกับสำนักงานประกันสังคม ก็จะได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย.
Discussion about this post