
เมื่อเวลา 16.09 น.วันที่ 8 มีนาคม 2565ที่ผ่านมา (ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ) ณ ลานพระธาตุเนิ้ง วัดพระหลวง ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่เป็นประธานในพิธีสมโภชองค์พระธาตุเนิ้ง พิธีสรงน้ำพระราชทานและเปิดงานประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง วัดพระหลวง ประจำปี 2565 โดยมีนายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอสูงเม่น กล่าวรายงานและอ่านหมายรับสั่ง
มีผู้ร่วมพิธี ได้แก่ พระราชเขมากร เจ้าคณะจังหวัดแพร่ ประธายฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จำนวน 10 รูป นางสาวนิติยา พงษ์พานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นางวันทนา พ่วงบางโพ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแพร่ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ
- ประชาชนทั่วไป ในการนี้ นายวีรกานต์ บุญตัน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมฯ รกท.พัฒนาการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วย นางผุสดี ดวงเนตร พัฒนาการอำเภอสูงเม่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสูงเม่น เข้าร่วมในพิธีด้วย
จังหวัดแพร่ ได้รับพระราชทานน้ำสรง เพื่ออัญเชิญไปสรงพระธาตุเนิ้ง ในพิธีสมโภชพระธาตุเนิ้ง และพิธีสรงน้ำพระราชทาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุเนิ้ง ถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีขบวนอัญเชิญน้ำสรงพระราชทานจากวัดแก้วมงคลมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถ วัดพระหลวง และประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน้ำสรงพระราชทาน และประกอบพิธีสรงน้ำพระราชทานองค์พระธาตุเนิ้ง จากนั้นเวลา 17.09 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดงานประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง วัดพระหลวง ประจำปี 2565 ซึ่งอำเภอสูงเม่นพร้อมด้วยคณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ วัดพระหลวงจัดขึ้น เพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง หมู่ที่ 5 ตำบลพระหลวง อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ นับเป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านพระหลวงในปัจจุบัน วัดนี้ไม่ปรากฎ
หลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จากตำนานวัดพระหลวง ซึ่งเรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยพระครูปัญญาภิชัย เจ้าอาวาสรูปที่ 13 ได้กล่าวว่า แต่เดิมหมู่บ้านและวัดพระหลวงแห่งนี้ เคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ มีสัตว์ป่าชุกชุม ในจำนวนนั้นก็มีงูใหญ่อยู่ตัวหนึ่ง จะคอยจับสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร แม้แต่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน หากพลัดหลงเข้าไปก็จะถูกงูกัดกินทุกคราวไป

ครั้งหนึ่งมีพวกพ่อค้าชาวฮ่อ (จีนฮ่อ) นำ
สินค้าบรรทุกหลังม้ามาขายและพากันพักแรมที่บ้านสูงเม่น โดยปล่อยม้าให้เที่ยวหากินบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่ล่วงล้ำเข้าไปในดงหลวงก็จะถูกงูใหญ่รัดกินเป็นอาหาร เมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ก็ทำความโกรธแค้นให้แก่พ่อค้าชาวจีนฮ่อเป็นอย่างมาก จึงช่วยกันหาวิธีกำจัดงูนั้นเสีย เมื่อจับงูได้ จึงช่วยกันฆ่างูนั้น แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อน ๆ กองไว้ใกล้ ๆ รูนั้น หลังจากวันนั้นพ่อค้าชาวจีนฮ่อก็นำสินค้าไปขายตามปกติ ครั้นเมื่อขายสินค้าหมดก็เดินทางกลับ และพากันไปดูซากงูที่กองไว้ ปรากฏว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะซากงูกลายเป็นท่อนเงินท่อนทองจึงแบ่งท่อนเงินท่อนทองนั้นออกเป็น 3 วัด 3 หมู่บ้าน มาสร้างบ้านเรือนเป็นหมู่บ้านขึ้น และช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างตลอดจนพระประธานองค์ใหญ่ในวิหารและให้ชื่อวัดนี้ว่า “วัดพระหลวง” และหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านพระหลวง” ซึ่งทั้งวัดและหมู่บ้านมีคำว่าหลวง คงเกิดจากที่มีพระประธานองค์ใหญ่ มีชาวบ้านอพยพมาอยู่มากถึง 3 หมู่บ้านและ 3 วัดด้วยกัน
และสถานที่นี้เป็นป่าใหญ่ดงหลวง วัดพระหลวง มีโบราณสถานที่มีความสำคัญหลายแห่งคือ เจดีย์วัดพระหลวง หอไตร หอระฆังซึ่งชาวบ้านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานให้เป็นปูชนียสถานที่ควรค่าแก่การเคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมของชุมชนในท้องถิ่นสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ด้วย
พิธีดังกล่าว ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post