
ที่ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดงานครบรอบ 107 ปี วันพระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” ในวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ผู้พระราชทานนามสุราษฎร์ธานี ซึ่งแปลว่า เมืองคนดี เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมอันดีงาม โดยนายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่งกายย้อนยุค เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายธธงชัย สารอักษร วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น ภาคเอกชน กลุ่มพัฒนาสตรี และประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
สำหรับการจัดงานครบรอบ 107 ปี วันพระราชทานนาม “สุราษฎร์ธานี” อย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้จัดขึ้นในรูปแบบของการแสดงศิลปะวัฒนธรรมภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย นิทรรศการน้อมรำลึกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ การสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม การแสดงของเด็กและเยาวชน การแสดงของศิลปินพื้นบ้าน การขับเสภา การแสดงซิมโฟนี่ออร์เคสตร้า ร่วมกับการขับร้องบทเพลง “มนต์สุราษฎร์” โดยผู้บริหารสำนักประชาสัมพันธ์เขต 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT SOUTH) ร่วมกับสื่อมวลชนในพื้นที่ การแสดงแบบผ้าไทย โดยผู้บริหารจังหวัดสุราษฎร์ธานีและเหล่ากาชาดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งอู่เรือพระที่นั่งและเรือรบเพื่อใช้ในราชการที่อ่าวบ้านดอน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ย้ายที่ตั้งเมืองท่าทองมายังอ่าวบ้านดอน พร้อมทั้งยกฐานะให้เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และพระราชทานชื่อว่า “เมืองกาญจนดิษฐ์”โดยแต่งตั้งให้พระยากาญจนดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองดูแลการปกครอง และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้เมืองกาญจนดิษฐ์, เมืองคีรีรัฐนิคมและเมืองไชยารวมตัวเป็นจังหวัดไชยา ขึ้นตรงต่อมณฑลชุมพร เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป มีการแยกเมืองกาญจนดิษฐ์เป็นอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอบ้านดอน กระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการย้ายอำเภอเมืองมาที่อำเภอบ้านดอนและโอนชื่อมาเป็นชื่ออำเภอไชยาและให้เชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอพุมเรียง” ทว่าประชาชนยังติดเรียกชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอไชยา” ทว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดปรานชื่อบ้านดอน จึงพระราชทานนามอำเภอบ้านดอนว่า “สุราษฎร์ธานี” และยังคงชื่ออำเภอพุมเรียงว่าอำเภอไชยาเช่นเดิม รวมถึงเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระราชทานนามแม่น้ำตาปี ให้ในคราวเดียวกันนั้นเอง
////รัตติยา พูลศิริ/สุราษฎร์ฯ////
Discussion about this post