
ที่กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองบ่อแสน ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พัง งา อาจารย์นิติพงษ์ ทนน้ำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมการผลิตลูกเหนา หรือลูกชก ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของดีประจำถิ่นของจังหวัดพังงา ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นเมนูลูกชกลอยแก้ว เป็นของหวานที่ได้รับความชื่นชอบทั้งคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไป-มาในพื้นที่อำเภอทับปุดและอำเภอเมืองพังงา โดยมี นายสราวุฒิ กะมินสิน ประธานกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านคลองบ่อแสน และนายจำนง หอมหวน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ้านคลองบ่อแสน นำไปดูขั้นตอนการผลิตที่เริ่มต้นตั้งแก่การปีนไปตัดลูกเหนาที่ได้ขนาดกำลังดีไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป ตัดเป็นช่อๆออกจากทะลาย แล้วผูกเชือกหย่อนลงมาให้คนรับด้านล่าง เมื่อได้ตามจำนวนนวนแล้วก็จะตัดแบ่งเป็นท่อนๆใส่ในกระทะใบบัวต้มประมาณ2-3ชั่วโมง วางไว้ให้เย็น แกะลูกเหนาออกจากช่อ และนำไปตัดหัว แล้วใช้ไม้แคะเนื้อออกมาซึ่งแต่ละผลจะมี 3 เมล็ด จากนั้นก็จะนำไปล้างให้สะอาด ก่อนจะนำไปแปรรูปต่อเป็นลูกชกลอยแก้ว และสามารถนำไปทำได้อีกหลายเมนูทั้งคาวหวาน
นายจำนง หอมหวน ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า บ้านคลองบ่อแสนถือได้ว่าเป็นถิ่นกำเนิดของต้นเหนา บรรพบุรุษ ได้มีการแปรรูปผลิต ภัณฑ์จากต้นเหนามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลเหนาสด น้ำตาลเหนาแดง น้ำตาลแว่น และลูกเหนา หรือลูกชก และปัจจุบันมีคนสืบทอดการทำอาชีพแปรรูปลูกเหนาน้อยลง เพราะมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากใช้เวลานาน สำหรับ”ต้นเหนา” หรือ “ต้นชก” ต้นไม้ตระกูลปาล์มที่พบในท้องถิ่น จ. พังงาและใกล้เคียง ชอบขึ้นตามแนวภูเขาหิน มีลำต้นตรง โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่กว่าต้นตาล สูงประ มาณ 20-25 เมตร ใบยาวประ มาณ 3 เมตร คล้ายใบมะพร้าวแต่ใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่า ก้านใบ ทางใบเหยียดตรงกว่ามะพร้าว มีรกสีดำตามกาบใบหนาแน่น ต้นเหนาแต่ละต้นใช้เวลาถึง 25 ปี ถึงจะสามารถให้คนเก็บลูกเหนา หรือ ลูกชก ไปกินได้ เรียกว่า “ปลูกรุ่นพ่อ ได้กินรุ่นลูก” และหลังจากเริ่มเป็นลูกแล้ว ก็ต้องใช้เวลารออีกประมาณ 2 ปี จึงจะเริ่มตัดลูกเหนามาแปรรูปได้ จากนั้นเมื่อทยอยเก็บลูกหมดต้น มันก็จะยืนต้นตายเอง

ด้านอาจารย์นิติพงษ์ ทนน้ำ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้จัดโครงการการพัฒนาสื่อวีดิทัศน์เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยได้มีการศึกษารูปแบบการนำเสนอและการเขียนบทเพื่อสร้างความเข้าใจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ประ สานความร่วมมือกับชุมชน และถ่ายทำวีดีทัศน์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เผยแพร่ทางช่องทางระดับจังหวัดขึ้นไป ทั้งนี้โดยมีวัตถุประ สงค์ให้สื่อการเรียนรู้นี้เป็นสื่อที่ให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้และนำไปต่อยอดกับการใช้ชีวิตหรือธุรกิจของตนเองได้ รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้สู่คนรุ่นหลังต่อไป.
จักรพันธ์ รัตนอาภรณ์ /พังงา
Discussion about this post