
จากกรณีช้างป่าในพื้นที่ ม.7 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิง เทรา ได้ทำร้ายชาวบ้านถึงแก่ชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 1 ราย เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่ได้เสนอแนะให้มีการทำคูกันช้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่าเข้ามาทำร้ายชาวบ้านในพื้นที่ชุมชน
ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดย นายเผด็จ ลายทอง ผอ.การสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการทำคูกันช้างว่า กรมฯ ได้พยายามปรับปรุงแนวป้องกันช้างป่าที่ออกหากินนอกพื้นที่อนุรักษ์ ด้วยการทำรั้วไฟฟ้า สร้างคูดินกันช้าง แต่ช้างมีการปรับตัวและสามารถทำลายคูกันดินได้ จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาช้างป่า ของสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับนักวิชาการ มีข้อเสนอว่าควรใช้คูกันช้างตามแนวที่มีอยู่เดิม แต่ควรเสริมด้วยการเทคอนกรีตผสม เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างป่ารุกเข้ามาได้ พร้อมด้วยการวางท่อระบายน้ำ จะมีค่าใช้จ่ายกิโลเมตร ละ 6,5 ล้าน
ซึ่งขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำคำของบประมาณ ประจำปี 2567 เพื่อจัดทำแนวป้องกันช้าง ความยาว 50 กิโลเมตร ในเฟสแรก งบประมาณจำนวน 325,000,000 บ. ผ่านพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ 20 กม. อ.สนามชัยเขต ต.ท่ากระดาน 10 กม. และ อ.แก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี 20 กม.และยังได้เสนอแนะ จังหวัด 5 รอยต่อ ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระ แก้ว และฉะเชิงเทรา เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน สนับสนุนงบประ มาณจากกลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างแนวป้องกันช้างเพิ่มจะเป็นการแก้ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ได้ในระยะยาว
สำหรับจำนวนช้างป่าในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด มีประมาณเกือบ 500 เชือก พื้นที่แนวคูกันช้างเดิม ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยสำรวจไว้แล้วมีประมาณเกือบ 500 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาช้างป่าทำร้ายประชาชนในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ ขณะนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้เคลื่อนย้ายช้างตัวที่ดุร้ายในฝูงซึ่งมีอยู่จำนวน 5 ตัว ออกมาและหาพื้นที่รองรับ เพื่อให้ชาวบ้านอุ่นใจปลอดภัย.
Discussion about this post