วันที่ 19 ธันวาคม 2565 เวลา 07.30น. ที่ บริเวณพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบ ร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตนครพนม อ.เมือง จ.นครพนม นาวาเอก ณฐพัฒน์ ซื่อมงคล รองผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง นำกำลังพล จัดกิจกรรมตักบาตร เนื่องในวันอาภากร 19 พฤษภา คม พ.ศ.2566 ครบรอบ 100 ปี วันสิ้นพระชนม์ ทั้งนี้ยังมี ชมรมนาวี ตำรวจน้ำ และส่วนราชการในพื้นที่มาร่วมทำบุญตักบาตร หน้าพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ กองบัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เนื่องในวันนี้ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2565 เป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ จึงได้ถือเป็นวัน เริ่มต้นแห่งการจัด “งานครบรอบวันสิ้นพระชนม์ 100 ปี พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ซึ่งในลำดับต่อไปเราจะร่วมกันขับร้องเพลงพระนิพนธ์อันทรงคุณค่าเต็มเปี่ยมไปด้วยคำสอนและแรงบันดาลใจแก่หมู่ทหารเรือ ซึ่งกองทัพเรือได้ถวายพระเกียรติให้พระองค์ทรงเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และเหล่าพี่น้องประชาชนที่เคารพศรัทธาทั่วทั้งแผ่นดิน จำนวน 3 เพลง ให้ดังก้องกังวานเป็นการน้อมถวายแด่ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระ องค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ องค์ ‘เสด็จเตี่ย’ อันเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นการน้อมรำลึกถึงพระประวัติ พระเกียรติคุณที่พระองค์ทรงเสียสละ ทรงอุทิศเพื่อประ เทศชาติ และคำสอนที่พระองค์ทรงให้ไว้ ในอันที่จะได้น้อมนำมาเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตจากพระปณิธานที่พระองค์ทรงเสียสละเพื่อชาติและราชนาวี
จากประวัติศาสตร์ชาติ ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเราต้องเผชิญกับวิกฤติแห่งความอยู่รอดของชาติมาหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งที่ผ่านพ้นมา ล้วนเป็นบทเรียนให้ ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และที่สำคัญคือบรรพชนของพวกเรามีส่วนสำคัญในการพาชาติผ่านพ้นวิกฤติเหล่านั้น มาได้ หนึ่งในบรรพชนที่พวกเราจะได้ร่วมน้อมรำลึกร่วมกันในวาระโอกาสนี้ คือ ‘เสด็จเตี่ย’ หรือ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จากวิกฤตการณ์รัตนโกสินศก 112 นับเวลาได้ ๑๒๙ ปี ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัวทรงรับมือกับลัทธิล่าอาณานิคมชาติตะวันตก ด้วยทรงปกป้องประเทศรักษาแผ่นดินส่วนใหญ่ไว้ และหนึ่งในบทเรียนที่สำคัญก็คือ ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศทางทะเลที่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางทหารที่ไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติ คือคำตอบในการพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง หนึ่งเดือนหลังวิกฤติการณ์ ‘พระองค์เจ้าอาภากร’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้องจากแผ่นดินเกิดด้วยพระชันษาเพียง 13 ปี ไปศึกษาศาสตร์วิทยาการทหารเรือยังประเทศที่เป็นต้นแบบและทันสมัย พระองค์ทรงตรากตรำเป็นเวลาถึง 6 ปีเศษ ที่ทรงศึกษาวิทยาการทหารเรือ ทรงฝึกในเรือรบของราชนาวีอังกฤษเยี่ยงนักเรียนทำการอื่น ๆ เมื่อทรงสำเร็จการศึกษา กลับมาพัฒนาวางรากฐานโรงเรียนนายเรือขึ้นใหม่ ตลอดช่วงเวลาที่ ‘กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์’ ทรงงานวางรากฐานโรงเรียนนายเรือ พระองค์ทรงใกล้ชิดกับลูกศิษย์เป็นอย่างมาก และทรงอนุญาตให้นักเรียนนายเรือเรียกพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ อันสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงไม่ถือพระ องค์ รักลูกศิษย์เยี่ยงบุตร หนึ่งในมรดกอันล้ำค่าที่ประทานไว้แก่ลูกศิษย์ และเหล่าทหารเรือจนถึงเหล่าประชาชน คือ บทเพลงพระนิพนธ์อันมีความหมาย สร้างแรงบันดาลใจให้กับชนรุ่นต่อ ๆ มา จนถึงที่ทรงต้องออกจากราชการทหารเรือ ได้ทรงศึกษาวิทยาการทางการแพทย์แผนไทยนำมารักษา ผู้ป่วยผู้ยากไร้ด้วยพระองค์เอง จนเหล่าประชาชนถวายพระนามพระองค์ว่า ‘หมอพร’ และได้ทรงทำตำรายาไว้ให้สืบทอด ทรงศึกษาธรรมะ พระคาถา วิชาอาคม จากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ อันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวที่นิยมถือปฏิบัติกันทางหนึ่งในสมัยนั้น พระองค์ทรงนำศรัทธาสู่วิถีทางที่ชอบอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งสิ้น ซึ่งก็ยังคงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้เลื่อม ใสศรัทธาจวบจนปัจจุบัน พระองค์ทรงกลับเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง ทรงปฏิบัติภารกิจจากการประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของไทย ทรงขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบเพื่อตั้งฐานทัพเรือ ซึ่งมีความเหมาะสมด้านภูมิรัฐ ศาสตร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหน่วยกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือ ทรงจัดหาและนำเรือหลวงพระร่วงเรือรบซึ่งจัดซื้อจากต่างประเทศด้วยเงินที่ประชาชนร่วมกันบริจาค เดินทางกลับประเทศโดยนายทหารเรือของไทยเอง สร้างความมั่นใจให้แก่กองทัพเรือเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงพัฒนากองทัพเรือต่อเนื่องตั้งแต่ระดับพื้นฐานขององค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีของกองทัพเรือ ทรงวางหลักยุทธศาสตร์อันเป็นการวางรากฐานที่สำคัญไว้แก่กองทัพเรือ และยังเป็นคุณูปการต่อความมั่นคงของชาติทางทะเลสืบมา.
Discussion about this post