
วันที่ 26 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมสมายส์ล้านนา รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นางรุ่งอรุณ ชัยสวัสดิ์ รองนายกเหล่ากาชาด จ.เชียงใหม่ ในฐานะอุปนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีลานนาไทยเชียงใหม่เป็นประธานแถลงข่าวการประกวดซอพื้นบ้านล้านนาไทย ครั้งแรก ในโอกาสครบรอบ76 ปี สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมศรีลานนาไทย เพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาและดนตรีพื้นเมือง มีนางเจือจันทร์ ณ เชียงใหม่ ประธานจัดการแข่งขันซอพื้นบ้านล้านนาไทย นางผ่องพันธ์ จงยศยิ่ง ผู้แทน น.ส.กชพร เวโรจน์ หรือมาดามหยก ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ การประกวดซอพื้นเมืองล้านนา นายอินตา เลาคำ นายกสมาคมปี๋ซอ จ.เชียงใหม่ นายถาวร ณ เชียงใหม่ ผู้สนับสนุน พร้อมคณะกรรมการบริหาร ศิลปินล้านนา และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม กว่า 50 คน
ระหว่างแถลงข่าว ได้มีการสาธิต และแสดงซอพื้นบ้าน โดยนายอินตา และครูแอ๊ด ภานุทัต อภิชนาธง ผู้ก่อตั้งชมรมดนตรีพื้นเมืองเชียงใหม่ พร้อมศืล
ปินล้านนา ประกอบการแถลงข่าวเพื่อสร้างสีสันและความครึกครื้น จนทำให้ผู้ร่วมแถลงข่าว ต่างฟ้อนรำอย่างสนุกสนุน พร้อมมอบรางวัลแก่ศิลปินดังกล่าว
นางเจือจันทร์ กล่าวว่า กิจกรรมครบรอบ76 ปี สมาคมฯ ประกอบด้วย 4 กิจกรรมคือ ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อเป็นศิริมงคล, การประกวดแข่งขันซอพื้นบ้านล้านนาไทย,งานกาล่าดินเนอร์ ชมการแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทย โดยสตรีวีไอพีเชียงใหม่ พร้อมงานบันเทิง และการจัดทำหนังสือครบรอบ76 ปี เพื่อสดุดีอดีตนายกสมาคมฯ สมาชิกที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งสมาคมครบรอบ 76 ปี ในวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้โดยมีนางกุสุมาล พงษ์สิทธิถาวร นายกเหล่ากาชาด จ.เชียงใหม่ ภริยา ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เป็นนายกสมาคมฯ คนที่ 30 ด้วย
ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว คาดว่ามีทีมส่งเข้าประกวดกว่า 20 ทีม โดยคัดเหลือ 5ทีม เพื่อเข้ารอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 19พฤศจิกายนนี้ ที่ลานพระบรมอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อ.เมือง โดยผู้เข้าประกวดมีอายุ 18-35 ปีเท่านั้น พร้อมจัดกาดหมั้วครัวฮอม เพื่อเข้ากับบรรยากาศจัดงานประกวด และส่งเสริมท้องเที่ยวจังหวัด ที่สำคัญเพื่อให้เยาวชน ได้สืบสานอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง และแสดงออกเชิงสร้างสรรค์
นางเจือจันทร์ กล่าวอีกว่า อยากฝากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และรัฐบาลใหม่ ส่งเสริมสนับสนุนการฟื้นฟู และอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะดนตรีพื้นเมือง อู้กำเมือง และแต่งกายล้านนา ที่เป็นเอกลักษณ์ และมนต์เสน่ห์ทางวัฒนธรรม ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาที่สำคัญ เป็นจุดขายท่องเที่ยวชุมชนพร้อมกับให้ท้องถิ่น บรรจุหลักสูตรวัฒนธรรมล้านนา และดนตรีพื้นเมืองเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วย
////////////
Discussion about this post