
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 21 กันยายน 2566 นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมที่จะช่วยสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิดได้เร็วที่สุด โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาจังหวัดแพร่มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งปีอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท หลังจากมารับตำแหน่งได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และสื่อมวลชน ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชาชนประโยชน์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ตั้งเป้ารายได้ ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพียง 10 เดือนแรกของปี 2566 กรมการท่องเที่ยวเก็บตัวเลขจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี งานอีเว้นต์ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ส่งผลให้จังหวัดแพร่มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะทะลุเป้าที่วางไว้แน่นอน
ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวอีกว่า ในปี 2567 โดยการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนของจังหวัดแพร่ ตั้งเป้าหมายที่จะดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดแพร่ ในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่าง 3,500-4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะเรื่อง อาหารพื้นเมืองจังหวัดแพร่มีความโดดเด่น การเข้ามาจับจ่ายซื้อข้าวของ ของฝากของที่ระลึก เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายซื้อของในจังหวัดแพร่เม็ดเงินทั้งหมดจะกระจายไปสู่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดแพร่ในสาขาอาชีพต่างๆ เกษตรกรได้ขายสินค้าด้านการเกษตร กลุ่มอาชีพต่างๆ มีรายได้เสมอภาคกัน โดยเฉพาะที่บ้านนาคูหา และบ้านแม่ลัว อำเภอเมืองแพร่ เป็นจุดท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่จังหวัดกำลังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เสมอภาคกัน
ช่วงนี้เป็นเดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ จังหวัดแพร่พยายามเก็บกวาดเม็ดเงินที่เหลือจ่ายจากโครงการอื่น เพื่อดำเนินโครงการ 2 โครงการ คือ 1. โครงการ Phrae Street Craft Festival 2023 ที่ถนนบริเวณเมฆฮิมคือ ทำเป็นถนนโชว์งานหัตถกรรมที่โดดเด่นของกลุ่มอาชีพต่างๆ ในจังหวัดแพร่ เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประชาชนในกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยเน้นการร่วมกลุ่มเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้ทันความต้องการของลูกค้าโดยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเป็นเจ้าภาพ พร้อมเปิดปฏิทินการท่องเที่ยวของจังหวัดแพร่ปีหน้า จะทำอย่างไรที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ได้อย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ 2 โครงการจัดมินิแสงสีเสียงสืบสานตำนานเมืองลองที่ห่างหายไปในช่วงโควิด โดยความร่วมมือกับอาจารย์โกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์โกมลผ้าโบราณ
และกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่อำเภอลอง ที่มีศักยภาพในพื้นที่มาร่วมกันแสดงพลังถ่ายทอดงานแสงสีเสียง หากการต้อนรับสร้างความประทับใจ ผู้คนก็จะกล่าวถึงจังหวัดแพร่และมาเที่ยวที่จังหวัดแพร่เพิ่มมากขึ้น
“หลักฐานทางประวัติศาสตร์ 1,000 กว่าปีของจังหวัดแพร่อยู่ที่อำเภอลอง พระนางจำมาเทวีได้ทิ้งร่องรอยการจาริกมาถึงเมืองลองไว้ เรามีบทเรียนทางประวัติศาสตร์กลุ่มพันธมิตรทิ้งระเบิดที่สะพานเมืองลองเพื่อจะตัดเส้นทางการเดินทัพของญี่ปุ่น ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยังปรากฏอยู่ที่เมืองลอง ซึ่งจะเก็บเรื่องราวเหล่านี้มาทำเป็นมินิแสงสีเสียงสืบสานตำนานเมืองลอง โดยทั้ง 2 งาน รวมถึงการเปิดตัวปฏิทินท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ มีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ว่างแผนมาเที่ยวที่อำเภอลอง และที่จังหวัดแพร่เพิ่มมากขึ้น” ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่กล่าว
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post