
วันที่ 22 กันยายน 2566 ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนระดับจังหวัด จังหวัดนครพนม และมีนางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นเลขานุการคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนคณะทำงานในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนจังหวัดนครพนม พร้อมวางแนวทางขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน หวังสร้างรายได้สู่ชุมชนที่มั่นคง พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ…. โดยมีส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม
นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชนจังหวัดนครพนม เป็นการติดตามและสนับสนุนการทำงานของคณะทำงาน ที่นับว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และกำหนดแนวทางในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ที่มีแนวทางและเป้าหมาย มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน และสิ่งสำคัญคือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางมาปรับใช้ เพื่อสร้างคุณค่า จากความหลากหลายของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนที่เข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม มีการจำแนกกลุ่มประเภทกิจการวิสาหกิจชุมชน/เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนประเภทการผลิตสินค้าของจังหวัดนครพนม ทั้งหมด 14 ประเภท ซึ่งมีวิสาหกิจชุมชนที่ประเภทการผลิตพืชมากที่สุด จำนวน 620 แห่ง รองลงมาคือ การผลิตปศุสัตว์ จำนวน 568 แห่ง ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ/เสื้อผ้า จำนวน 181 แห่ง การผลิตปัจจัยการผลิต จำนวน 137 แห่ง และการแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหาร จำนวน 133 แห่ง เครื่องจักสาน จำนวน 97 แห่ง การผลิตประมง จำนวน 74 แห่ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จำนวน 47 แห่ง เครื่องดื่ม จำนวน 24 แห่ง ของชำร่วย/ของที่ระลึก จำนวน 15 แห่ง ดอกไม้ประดิษฐ์ จำนวน 9 แห่ง สิ่งประดิษฐ์จากโลหะ จำนวน 5 แห่ง และประเภทเครื่องปั้น น้อยที่สุด จำนวน 3 แห่ง
สำหรับการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนจากหน่วยงานภาคี ผลการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ปี 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับการเพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชาสู่มาตรฐาน Medical Grade และการผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชา จำนวน 16 แห่ง และความรู้ด้านอื่น ๆ จำนวน 11 แห่ง รวม 27 แห่ง
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 35 แห่ง และสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ 12 แห่ง รวม 47 แห่ง
ธนาคารออมสิน ส่งเสริมสนับสนุนด้านความรู้ ด้านการตลาด และปัจจัยโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น จำนวน 5 แห่ง และกิจกรรมพัฒนาและยกระดับโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวชุมชน จำนวน 2 แห่ง รวม 7 แห่ง สำนัก งานประมงจังหวัดนครพนม ถ่ายทอดความรู้ผลิตภัณฑ์ แปรรูปจากลูกอ๊อดกบ การทำอาหารปลาลดต้นทุนและการแปรรูปปลา จำนวน 3 แห่ง สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครพนม ถ่ายทอดความรู้หลัก สูตรการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพสำหรับคณะกรรมการวิสาหกิจชุมชน/สมาชิกวิสาหกิจชุมชน และส่งเสริมการจัดทำบัญชีวิสาหกิจชุมชน จำนวน 11 แห่ง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม ถ่าย ทอดความรู้และสนับสนุนปัจจัย จำนวน 1 แห่ง
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ถ่ายทอดให้ความรู้เพื่อยกระดับวิสาหกิจชุมชนจากระดับปานกลางสู่ระดับดี จำนวน 12 แห่ง ยกระดับวิสาหกิจชุมชนจากระดับปรับปรุงเป็นปานกลาง จำนวน 5 แห่ง ส่งเสริมและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ จำนวน 2 แห่ง พัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 1 แห่ง รวม 20 แห่ง การสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในระดับพื้นที่ ทั้ง 12 อำเภอ วิสาหกิจชุมชน จำนวน 400 แห่ง
นอกจากนี้ภายในการประชุมยังมีการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอก สไมล์เหาะ ข้าวอินทรีย์สไมล์เหาะ ผลิตภัณฑ์คุกกี้ วิสาหกิจชุมชนผลิตข้าวคุณภาพดี บ้านหนองนางด่อน และผ้าพื้นเมือง ไทแสก-บะหว้า และสบู่สคับจากกาแฟ และฟักข้าว ซึ่งเกิดกจากการส่งเสริมแปละขับเคลื่อนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จนสามารถพัฒนาและต่อยอดไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสู่การสร้างรายได้ของชุมชน.
Discussion about this post