
เมื่อวันที่15 พ.ย. 66 เวลา 08.39 น. ที่ศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีกรรมล้านนา โครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก โดยได้รับเมตตาจาก พระราชศาสนาภิบาล. เจ้าคณะจังหวัดน่านวัดพญาภูพระอารามหลวง , พระสุนทรมุนี ดร.รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน รูปที่ 1 วัดมิ่งเมือง , พระชยานันทมุนีรศ.ดร. (ธรรมวัตร จรณธมฺโม ณ น่าน) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอามรามหลวง ดร.รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน รูปที่ 2 และพระภิกษุสงฆ์ สามเณร 100 รูป ร่วมประกอบพิธี โดยมีนายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานกรรมการมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน , นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง , นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น , นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง นายช่างใหญ่ กรมที่ดิน , นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง , นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน , นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ , นายนิวัฒน์ งามธุระ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นาย
จเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา , พลตำรวจโท ปิยะ ต๊ะวิชัย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 15 อำเภอ ข้าราชการทุกฝ่าย , นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน , นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดน่านกว่า 1,000 คน ร่วมประกอบพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยอดีตเจ้าผู้ครองนครน่านทุกองค์ อารักษ์หลวงเมืองน่าน บรรพบุรุษ บรรพชา และเทวดาอารักษ์ทั้งหลาย เพื่อขออนุญาตรื้อถอนอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการ และประกอบพิธีบวงสรวงสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้น ประกอบพิธีถวายทานขันข้าว 100 ขัน เจดีย์ทราย 100 กอง ตุงซาววา 4 ตัว โดยจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยแล้วประเคนพานดอกไม้ธูปเทียนขอศีลแด่ประธานสงฆ์ พระสงฆ์ให้ศีลแล้วเจริญพระพุทธมนต์ แล้วประกอบพิธีเวนทาน ขันข้าว 100 ขัน เจดีย์ทราย 100 กอง ตุงซาววา 4 ตัว เพื่ออุทิศกุศลแก่อดีตเจ้าผู้ครองนครน่านทุกองค์ บรรพบุรุษบรรพชนผู้ก่อสร้างและรักษาบ้านเมือง และอารักษ์หลวงเมืองน่าน ภูมิเทวดาที่ปกปักรักษาศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า ตลอดถึงจิตวิญญาณที่ยังติดหรือตกค้างอยู่ ณ สถานที่ศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า แล้วประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา เสร็จแล้ว ประกอบพิธีสวดถอนพื้นที่ตามประเพณีเมืองน่าน เพื่อถอดถอนสิ่งอัปมงคลทั้งปวงให้ออกไปจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางในการรื้อถอน ในการก่อสร้าง และไม่ให้ขัดขวางต่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรืองตั้งมั่นของหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งปวง โดยจัดประกอบพิธีสวดถอนพื้นที่ เป็น 5 จุด (เมื่อการสวดถอนเสร็จสิ้นลง เจ้าหน้าที่นำสะตวงถอนทั้ง 4 ทิศ ออกไปจากพื้นที่ตามทิศนั้น ๆ เพื่อนำไปทิ้งในที่ห่างไกล ด่วนสะตวงจุดกลางให้นำไปไหลลงแม่น้ำน่าน ณ ท่าน้ำเชิงสะพานท่าลี่ – ศรีบุญเรือง)
จากนั้น พระราชศาสนาภิบาล เจ้าคณะจังหวัดน่าน นำพระเถระ ประกอบพิธีรื้อถอนฯ หลังจากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำผู้บริหาร เครือข่ายภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน ทำพิธีรื้อถอนฯ เป็นอันเสร็จพิธี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันพิเศษอันเป็นมิ่งมงคลของพี่น้องประชาชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดน่าน ตลอดจนมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยเมตตาธรรมท่านเจ้าคุณพระราชศาสนาภิบาล เจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพญาภู พระอารามหลวง เป็นประธานสงฆ์ พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง พระชยานันทมุนี, รศ.ดร. รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ซึ่งทุกรูป และทุกท่านที่มาร่วมพิธีต่างเต็มไปด้วยความปรารถนาดีและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการช่วยยกระดับและสงวนรักษาไว้ซึ่งมรดกอันทรงคุณค่าของท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศไทย ทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และความเป็นชาติ เพื่อสนับสนุนในการพัฒนาลูกหลานเยาวชนคนน่าน รวมถึงคนไทยให้ได้มีโอกาสในการศึกษาเรียนรู้สิ่งดีงามของบรรพบุรุษคนไทย โดยเฉพาะ “วัฒนธรรมล้านนา” ซึ่งพวกเราชาวมหาดไทยมีความยินดีและร่วมภาคภูมิใจยิ่งที่จะทำให้ศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเกิดเป็น “หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน” และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ และมูลนิธิกสิกรไทย ลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนับสนุนโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 เพื่อเป็น “ต้นแบบพื้นที่ในการยกระดับองค์ความรู้” สานต่อภูมิปัญญาสู่เด็กและเยาวชน เพื่อความสุขที่ยั่งยืนของประชาชน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า สร้างเมื่อปี 2511 ตั้งอยู่บน ถ.สุริยพงษ์ ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน เป็นสถานที่ทำงานของส่วนราชการหลายหน่วยงาน สร้างบนที่ดินของกรมธนารักษ์ และตัวอาคารเป็นทรัพย์สินของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน และประกาศพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมของชาติ และปี 2558 จังหวัดน่านได้ดำเนินการตามแผนแม่บทฯ คือ ย้ายศาลากลางจังหวัดน่าน ไปยัง
ศูนย์ราชการจังหวัดน่านแห่งใหม่ ต.ไชยสถาน อ.เมืองน่าน เพื่อลดความแออัดในพื้นที่เมืองเก่าน่าน โดยภายหลังจากย้ายศาลากลางจังหวัดน่านไปยังที่ตั้งใหม่ ก็ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จนทุกวันนี้
“กระทรวงมหาดไทยได้มองเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ จึงได้เชิญให้มาเป็นผู้สนับสนุนและดำเนินการบริหารจัดการโครงการเป็น “หอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก” ซึ่งที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปถัมภ์ฯ ปรับปรุงศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ต่อมาในวันที่ 11 ก.ค. 2565 ที่ประชุมฯ เห็นชอบรูปแบบรายการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และให้นำเรื่องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 4 ครั้ง โดยมีประชาชนเห็นด้วย 92% จากนั้น ในวันที่ 7 ธ.ค. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ามีมติรับทราบและเห็นชอบหลักการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านที่เห็นชอบโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน และแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก และเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามมติคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่ได้เสนอโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก จึงได้มีพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนับสนุนโครงการปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่า เป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ระหว่างกระทรวงมหาดไทยและมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ในพระราชูปภัมภ์ฯ เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566 โดยเมื่อการปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จ มูลนิธิฯ จะไม่เก็บค่าบริการเยี่ยมชม ค่าตั๋วเข้าชมนิทรรศการ ค่าทำกิจกรรม หรือเงินตอบแทนต่าง ๆ จากประชาชนผู้รับบริการ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังการดำเนินการปรับปรุงอาคารตามโครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ นน 405 (บางส่วน) ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน มีเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา แล้วเสร็จ อาคารใหม่ของโครงการฯ ประกอบด้วย 1. หอศิลปวัฒนธรรม 2. อาคารหอประชุมอเนกประสงค์ 3. อาคารบริการ 4. สวนพฤกษศาสตร์ และ 5. ลานกิจกรรม โดยภายในอาคารจะมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนต้นทุนทางวัฒนธรรมต่อยอดปัญญาของบรรพชน และพื้นที่ศูนย์สังสรรค์ทางปัญญา NAN’S CREATIVE CENTER ได้แก่ พื้นที่เรียนรู้โดยสื่อดิจิทัล ลานเรียนรู้สำหรับเด็กเล็ก ลานกิจกรรมสัมมนา ห้องประชุมสำหรับทั้งแบบส่วนบุคคลและแบบกลุ่ม และห้องสมุดดิจิทัล โดยเรามีเป้าหมายสูงสุด คือ ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน
“โครงการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกแห่งนี้ จะเป็นสถานที่ที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้ของพี่น้องประชาชนจังหวัดน่าน และเป็นสถานที่อันจะเป็นทรัพยากรอันทรงคุณค่าที่สำคัญของประเทศไทย อันเป็นการน้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการ “สืบสาน รักษา และต่อยอด” รากเหง้าความเป็นไทย ความเป็นชนชาติไทย ที่ได้รับการแบ่งเบาพระราชภาระโดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวจังหวัดน่าน ซึ่งภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะได้ร่วมกันทำสิ่งที่ดี ที่เป็นประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวินของพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบหอศิลปวัฒนธรรมและศูนย์เรียนรู้ให้กับส่วนราชการในทุกพื้นที่ของประเทศไทยอย่างยั่งยืนสืบไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
@@@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น จ.น่าน โทร.084-8084888
Discussion about this post