
วันที่ 16ธ.ค.66 นายเอนก ปันทะยม นายอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอนพร้อมด้วยนายประยูร ปิมปา กำนันตำบลแม่ฮี้อ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอปาย นางอาภรณ์ แสงโชติ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอปาย นำ อปท.ในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ภายใต้การสนับสนุน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดกิจกรรมการแข่งขันรำนก รำโต ในงานฤดูหนาวอำเภอปาย ประจำปี 2566 “ มนต์เมืองปาย “ โดยมีผู้เข้าแข่งขันรำนก รำโต จำนวน 5 ทีมด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ และเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผลการประกวดรำนก รำโต รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมโรงเรียนปายวิทยาคาร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมลูกเวียงปาย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมโรงเรียนบ้านแพมบก
รางวัลชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ ทีมโรงเรียนบ้านทุ่งโป่งมิตรภาพที่ 78 และ โรงเรียนชุมชนบ้านแม่ฮี้
รำนก-รำโต เป็นศิลปะการแสดงฟ้อนรำของชาวไทยใหญ่ ที่มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมานาน รำนก-รำโตเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อสมัยพุทธกาลตามตำนาน ในวันที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ หลังเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันนั้นสัตว์ทั้งสามโลก จะสามารถมองเห็นกันได้ทั้งหมด มีเทวดา มนุษย์ และสัตว์ในป่าหิมพานต์ พากันมาเฝ้ารับเสด็จ เพื่อทำบุญใส่บาตร พระพุทธเจ้า ที่มีเป็นจำนวนมาก
ในกาลครั้งนั้นมีนกกินรี (นางนก) หรือกิ่งกะหร่า เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์จำพวกหนึ่ง ที่มีรูปร่างลักษณะแปลกคือ ลักษณะครึ่งมนุษย์ ครึ่งสัตว์ปีก ได้ออกมารำแพนหรือฟ้อนรำ เพื่อถวายพระพุทธเจ้า โตเป็นสัตว์อีกชนิดที่อยู่ในป่าหิมพานต์ โตมีรูปร่างลักษณะแปลกคือ มีลักษณะสัตว์หลายๆชนิดร่วมอยู่ในร่างเดียว มีตัวเหมือนสิงโต มีหัวเหมือนกวาง มีหางเหมือนเยือง(เลียงผา) ได้ออกมาฟ้อน (ก้าโต) รับเสด็จเพื่อถวายพระพุทธเจ้าเช่นกัน
ปัจจุบันการรำนก-รำโต ถือได้ว่าเป็นการฟ้อนรำเอกลักษณ์วัฒน ธรรมประเพณึของชาวไทยใหญ่ เมื่อมีงานประเพณีต่างๆของชาวไทยใหญ่ก็จะนำนก-โต ออกมาร่ายรำ สร้างความสนุกสนานในงานพิธีนั้นๆ.
ฉลอง หมั่นสกุล จ.แม่ฮ่องสอน
Discussion about this post