
สำนักงานประมง จังหวัดสุพรรณ บุรี ย้ำชัด ! ใช้ลอบพับ หรือไอ้โง่ จับปลาแหล่งน้ำสาธารณะ ผิดกฎหมายทุกกรณี เผยเป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง
วันที่ 15 ม.ค.67ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพศาล สุขปุณพันธ์ ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 67 ได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดใช้ หรือมีไว้ในครอบครองเครื่องมือลอบพับได้ หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันจนติดปากว่า”ไอ้โง่” เพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ ทั้งพื้นที่ทะเล และพื้นที่น้ำจืดโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนต่อทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมาก ยกเว้นให้ใช้จับสัตว์น้ำได้เฉพาะในบ่อเพาะเลี้ยงที่เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิ์ครอบครองเท่านั้น
เนื่องจากการศึกษาเก็บข้อมูลทางวิชาการ พบว่า เครื่องมือลอบพับได้เป็นเครื่องมือทำการประมงประเภทใช้ดักจับสัตว์น้ำ รูปร่างลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม หรือทรงกลม ด้านข้างมีทางเข้าของสัตว์น้ำทั้งสองด้านอยู่สลับกันทั้งซ้ายขวา ลอบ 1 ลูก จะมีความยาวประมาณ 8 เมตร ซึ่งเมื่อนำมาทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะจะมีประสิทธิภาพจับสัตว์น้ำได้หลายชนิด ส่งผลทำให้สัตว์น้ำที่ยังไม่ได้มีโอกาสผสมพันธุ์วางไข่แม้แต่ครั้งเดียว ถูกจับขึ้นไปใช้ประโยชน์ เป็นการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง เพราะทำให้ไม่สามารถที่จะเกิดสัตว์น้ำในรุ่นถัดไปได้ เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นกฎหมายจึงได้บัญญัติห้ามใช้ หรือมีไว้ในครอบครอง เพื่อใช้เครื่องมือดังกล่าวทำการประมงในแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์โดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือลอบพับได้ หรือไอ้โง่ ไม่ได้ถูกห้ามใช้จับสัตว์น้ำในบ่อเพาะเลี้ยง จึงสามารถหาซื้อได้ง่ายในตลาดทั่วไป ส่งผลให้มีผู้ลักลอบใช้เครื่องดังกล่าวจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่ามี ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเครื่องมือชนิดนี้แล้วหลายคดี ซึ่งผู้กระทำผิดลักลอบทำการประมงด้วยเครื่องมือชนิดดังกล่าว จะต้องระวางโทษมีอัตราการเปรียบเทียบปรับ ตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท จนถึงหนึ่งแสนบาท หรือจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า นอกจากนี้ ตามบทบัญญัติ มาตรา 166 ของพระราชกำหนด การประมง พ.ศ. 2558 ผู้สนับสนุน หรือผู้ได้รับผลตอบแทนจากการกระทำความผิด เช่น ผู้จำหน่ายเครื่องมือให้ไปกระทำผิด ก็เข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด และต้องได้รับโทษทางกฎหมายด้วยเช่นกัน
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบาย 3 ป.ที่ใช้กำกับดูแลกับเรื่องนี้ในการอนุรักษ์บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดความยั่งยืนควบคู่ไปกับวิถีการประกอบอาชีพประมงที่มั่นคง อันได้แก่ 1.ป้อง คือการสร้างความรู้ความเข้าใจป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิด 2.ปราม คือการปรามเตือนให้ผู้กระทำผิดรับรู้เข้าใจ และไม่ทำผิดอีก และ 3. ปราบ คือการใช้มาตรการเข้มแข็งเข้มงวดทางกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วย น.ส.ทิมาพร พันเรือง ประมงอำเภอสองพี่น้อง นำกำลังชุดปราบปรามประมงน้ำจืดจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ทำการจับกุม ผู้ลักลอบดักปลา แบบผิดกฎหมาย บริเวณลำรางสาธารณะ หมู่ 5 ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง เบื้องต้นผู้ต้องหาใช้ความชำนานในพื้นที่ไหวตัวหลบหนีไปได้ ตรวจยึดของกลางเป็นเครื่องปั่นกำเนิดกระแสไฟฟ้า ตะแกรงด้ามไม้ไผ่ ประกอบสายไฟ สำหรับใช้ช็อตปลา และลอบแบบพับได้ จำนวน 10 ปาก เรือพลาสติก และอวนล้อม มูลค่าของกลางเกือบ 1 แสนบาท จึงได้ยึดมาทำการตรวจสอบทั้งหมด ส่วนปลาเบญจพรรณ จำนวนกว่า 1,000 กิโลกรัม ได้ปล่อยกลับคืนสู่ลำคลองสาธารณะ ได้นำของกลางทั้งหมดไปลงประจำวัน บันทึกตรวจยึดกับ พ.ต.ท.ชัยยันต์ ทิวาวงศ์ สว.(สอบสวน) สภ.บางตาเถร จ.สุพรรณบุรี ก่อนนำของกลางไปเก็บไว้ที่ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ต่อไป.
Discussion about this post