
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 เวลา 10.00 น.ณ ศูนย์ บก.ส่วนหน้า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) จังหวัดน่าน
นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน จัดประชุมเตรียมความพร้อมและกำหนดมาตรการรับมือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง (PM 2.5) ตามนโยบายรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรีนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับ ฝุ่นละอองหรือ PM 2.5 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชนที่รุนแรงขึ้นทุกปีโดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดนโยบายให้แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ มีการจัดตั้ง War Room เพื่อบูรณาการทุกภาคส่วน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำหนดมาตรการเชิงรุกเชิงป้องกันและจัดระเบียบการเข้าออกพื้นที่ป่า มุ่งเน้นการป้องกันไฟป่า โดยมี นายกมล นวลใย
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักจัดการป่าไม้ที่ 3 (สาขาแพร่) กรมป่าไม้ กล่าวรายงานการประชุมโดยที่ จังหวัดน่าน บูรณาการร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักจัดการป่าไม้ที่ 3 (สาขาแพร่) กรมป่าไม้ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดน่าน
นายต่อพงศ์ จันโทภาส ผู้อำนวยการส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า กล่าวว่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 13 (แพร่) รับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ น่าน – แพร่ ได้กำหนดมาตรการ และแนวทางปฏิบัติ ตอบสนองต่อนโยบายข้างต้น 10 ประการ จังหวัดน่านมีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 7.6 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์รวม 8 แห่ง ประมาณ 2.8 ล้านไร่ แบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่งในปี พ.ศ 2566 พบจุด Hotspot ในพื้นที่จังหวัดน่านประมาณ 11,000 กว่าจุด อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 4,500 จุดแบ่งเป็นอุทยานแห่งชาติ ดอยภูคา 1,700 จุดอุทยานศรีน่าน 1,300 จุดและพื้นที่อื่นๆ เรียงลงไปตามลำดับ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 13 (แพร่) ได้กำหนดมาตรการนำไปสู่ภาคปฏิบัติในระดับพื้นที่ดังต่อไปนี้ การจัดตั้ง War Room สำนักฯ 13 (แพร่) ได้จัดตั้ง War Room ในระดับสำนักฯ 1 แห่ง และ War Room ศูนย์บูรณาการส่วนหน้าจังหวัดน่านอีก 1 แห่งรวมทั้ง War Room ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้ง 8 แห่ง ร่วมประสานกับ War Room ระดับอำเภอและตำบล ซึ่งมีท่านนายอำเภอและนายก อปท. แห่งท้องที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อร่วมกันคิดวางแผนและดำเนินการตลอดจนการติดตามให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
การจัดเตรียมกำลังพลยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อป้องกันและควบคุมไฟป่าโดยบูรณาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นๆ โดยมีหัวหน้าป่าอนุรักษ์ทำหน้าที่บูรณาการแบบ Single Command เพื่อบริหารจัดการร่วมกันของหน่วยงานกรมอุทยานฯ ในพื้นที่ซึ่งประกอบไปด้วย หน่วยต้นน้ำ หน่วยโครงการพระราชดำริ หน่วยฟื้นฟู สถานีควบคุมไฟป่า และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชน จิตอาสา เครือข่ายและหน่วยงาน ในระดับตำบล อำเภอต่อไป
สำหรับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยงในเขตป่า ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่แหล่งของป่า พื้นที่ล่าสัตว์ป่า และพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ในเขตป่า ซึ่งพบว่าเป็นจุดที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก และเสี่ยงสูง จึงมีการจัดการร่วมกับชุมชนเพื่อบริหาร และลดความเสี่ยงในพื้นที่ดังกล่าว การจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ทำการเกษตรในเขตป่าที่อนุญาตให้ทำกิน ตามมาตรา 64 (พรบ.อุทยานแห่งชาติ) และมาตรา 121 (พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) ร่วมกับเกษตรกรเจ้าของพื้นที่ และชุมชนเพื่อกำกับควบคุม ป้องกันการลุกลามของไฟเข้าไปในพื้นที่ป่า การจัดทำแนวกันไฟ หากจำเป็นจะต้องเผาต้องมีการควบคุมทั้งพื้นที่ และเวลาเพื่อลดมลพิษ PM 2.5 และลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน การตรึงพื้นที่ในเส้นทางเข้าป่า – กลางป่า โดยร่วมกับพี่น้องประชาชน จิตอาสา และเครือข่ายในการจัดตั้งจุดสกัด จุดเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟซ้ำซาก เช่นพื้นที่เก็บหาของป่า พื้นที่ล่าสัตว์ และพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อป้องกันและควบคุมการลักลอบจุดไฟเผาป่า โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่/ราษฎรอาสา/เครือข่าย อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา เห็นไฟเร็ว เข้าถึงพื้นที่เร็ว และดับไฟได้เร็ว ลดความสูญเสียพื้นที่ป่าและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยโดย กรม อส.และ จ.น่าน ได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชน (อส.อส.)ร่วมปฏิบัติงานตั้งจุดสกัด และจุดเฝ้าระวังดังกล่าวเพื่อสกัดกั้นปัญหาไฟป่า และเป็นแนวร่วมอีกทางหนึ่ง
การจัดระเบียบการเข้าพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่ต้องร่วมมือกับชุมชนจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการตั้งกฎกติกา ชุมชน อาจมีการออกบัตรอนุญาตให้ราษฎรในพื้นที่เข้าและออกพื้นที่ป่า ทั้งนี้มุ่งเน้น ควบคุมบุคคลต่างถิ่นผู้ไม่ประสงค์ดี หรือผู้อาจทำให้เกิดไฟป่าการควบคุมการเก็บหาของป่าและการใช้ประโยชน์อื่นๆจากป่าต้องร่วมกันกำหนด ขอบเขต พื้นที่
และปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ของป่าดังกล่าวคงเหลือและขยาย หรือเกิดทดแทนขึ้นใหม่ในปีถัดไป เพื่อให้ชุมชนและลูกหลานได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต ลดความเสื่อมโทรม และเสื่อมสภาพของป่าลง มาตรการสุดท้าย มุ่งเน้นที่จะดำเนินการประชาสัมพันธ์สื่อสาร ทั้งเชิงลึกและเชิงรุก ถึงกลุ่มบุคคลเป้าหมาย ในลักษณะเคาะประตูบ้าน อาจจะเป็นกลุ่มบุคคลที่หาของป่า ล่าสัตว์ เลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนัก และขอความร่วมมือมุ่งเน้นใช้กฎกติกาของชุมชนในการบังคับลงโทษก่อนการใช้กฎหมาย มีการสื่อสารถึงทุกกลุ่มเพื่อร่วมกันใช้เครื่องมือสื่อสารทุกประเภท ทุกแขนง และทุกช่องทาง ทั้ง online และ on site การสื่อสารทางหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน วิทยุชุมชนเพื่อสื่อสารให้ครอบคลุมและทั่วถึง
เป้าหมายสุดท้าย ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของจังหวัดน่าน ในการสร้าง น่าน ท้องฟ้าสดใส น่าน ลมหายใจสะอาด น่านปราศจากไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5
@@@@@@@@@@@@@
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
0848084888
Discussion about this post