
วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.25 น. นายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาจังหวัดเชียงราย (กฟก.) พร้อมพนักงานและลูกจ้างสำนักงาน ได้จัดประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในโอกาส ครบรอบการก่อตั้ง “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” 25 ปี ณ วัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
โดย นายนิยม กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2542 และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2563 โดยมีวัตถุประสงค์และหน้าที่หลัก ได้แก่ ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรกร และแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรในระบบอันเนื่องมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร
นายนิยม กล่าวอีกว่า สำนักงาน กฟก.สาขาจังหวัดเชียงราย มีผลการปฎิบัติงาน ตามภารกิจ ดังนี้
ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
- การขึ้นทะเบียนองค์กรเกษตรกร จำนวน 2,587 องค์กร สมาชิก จำนวน 163,176 ราย
- การอนุมัติงบประมาณประเภทงบกู้ยืม จำนวน 45 โครงการ สมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 860 ราย จำนวนเงิน 13,305,149.00 บาท
- การอนุมัติงบประมาณประเภทงบอุดหนุน จำนวน 300 โครงการ สมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9,347 ราย จำนวนเงิน 9,276,865.00 บาท
ด้านการจัดการหนี้ของเกษตรกร
- การขึ้นทะเบียนหนี้เกษตรกร จำนวน 18,437 ราย 23,456 สัญญา จำนวนเงิน 2,341,581,431.53 บาท
- การชำระหนี้แทนเกษตรกร จำนวน 422 ราย 430 สัญญา จำนวนเงิน 145,977,703.78 บาท
- การโอนหลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นของกองทุนฯ จำนวน 484 แปลง เนื้อที่รวม จำนวน 1,694 ไร่ 48 ตารางวา
- การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คืนให้เกษตรกร จำนวน 161 ราย โฉนดที่ดิน จำนวน 248 แปลง เนื้อที่รวม จำนวน 926 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา
- การดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มีนาคม 2565 และวันที่ 14 มีนาคม 2566 กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,443 ราย รายงานตัวแสดงความประสงค์ เข้าร่วมโครงการ 1,016 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.90
- การจัดทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 มีนาคม 2565 และวันที่ 14 มีนาคม 2566 สถาบันเจ้าหนี้ ธ.ก.ส. กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,422 ราย เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,007 ราย โดย ธ.ก.ส.จัดทำสัญญาฯ เรียบร้อยแล้ว จำนวน 455 ราย
Discussion about this post