เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 1 กันยายน 2567 บริเวณหน้าวัดศรีดอนชัยตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ทางคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ตบเท้าประณามนักการเมืองหัวโบราณที่ฉวยโอกาสปลุกผี”เขื่อนแก่งเสือเต้น”
ซึ่งก่อนที่จะมีการอ่านคำแถลงการณ์หากพี่น้องชาวบ้านพร้อมคณะกรรมการมีการบนบานศาลกล่าว ที่
“หอเจ้าป่อหอแดง” โดยนำโทรศัพท์เอารูปหน้าของนักการเมืองหัวโบราณทั้ง 3 คนมาโชว์ด้วย ทำพิธีเผาพริกเผาเกลือ ประณามนักการเมืองหัวโบราณที่ฉวยโอกาสปลุกผี”เขื่อนแก่งเสือเต้น” ด้วย
โดยมี นายณัฐคัลภ์ ศรีคำภา เป็นผู้อ่านคำแถลงการณ์ “จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้ง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก ที่ผ่านมา ได้มีนักการเมือหัวโบราณฉวยโอกาสปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่ผลการศึกษาของ FAO ได้ชี้ให้เห็นว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นบรรเทาน้ำท่วมในลุ่มน้ำยมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นเท่านั้น”
เขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นลำน้ำยมได้ 11 ลำน้ำสาขา ขณะที่อีก 66 ลำน้ำสาขาที่อยู่ใต้จุดสร้างเขื่อน เขื่อนก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ขณะที่เขื่อนแก่งเสือเต้นต้องทำลายป่าสักทอง 40,000-60,000 ไร่ อันจะก่อให้เกิดน้ำแล้ง น้ำท่วมตามมาในอนาคต อีกทั้งกระทบกับชาวบ้านชุมชนสะเอียบ ทั้ง 4 หมู่บ้าน นับพันครัวเรือน
เขื่อนแก่งเสือเต้นยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว หากเขื่อนแตกจะสร้างความหายนะตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ ฯลฯ เปรียบเสมือนเอาระเบิดเวลามาวางไว้ให้ลูกหลานต้องอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย
อย่างนักการเมืองหัวโบราณ ยังคงปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นเหมือน 35 ปีที่ผ่านมา ทั้งที่แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งมีมากมายหลายแนวทาง เราจึงขอประณามนักการเมืองหัวโบราณเหล่านี้ และขอให้ยุติบทบาทในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นได้แล้ว หากคิดได้เพียงแค่นี้ก็ไม่ควรมาบริหารประเทศให้ล้าหลังอีกต่อไป
การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในอนาคต ต้องเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายธรรมชาติอันจะก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งที่หนักหน่วงกว่าเดิม หมดยุคสมัยของการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว ให้คนรุ่นใหม่ ใช้ความคิดใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเถิด อย่าจมปลักอยู่กับความคิดโบราณ โลกไปถึงขั้นรื้อเขื่อนแล้ว แต่นักการเมืองโบราณยังคงหากินอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆอยู่พอทีเถอะ
“คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน คือ บ้านดอนชัย, บ้านแม่เต้น ,บ้านดอนแก้ว และบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอยืนหยัดในการต่อสู้คัดค้านเขื่อนฯจนถึงที่สุด ยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยมีมติ ครม. รองรับ หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง ใช้แนวทาง”สะเอียบโมเดล” ในการบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนทั่วทั้งลุ่มน้ำยม
ด้วยจิตรคารวะ “คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 1 กันยายน 2567
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post