
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวสันต์ สุนจิรัตน์ กำนัน ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี นำทีมปกครองตำบลช่องสะเดา มูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลช่องสะเดา พร้อมด้วยรถน้ำ ร่วมกันดับไฟที่ไหม้ในพื้นที่ หมู่ 1 บริเวณป่าตรงข้ามแปลงปลูกป่าชุมชน เพื่อระงับไฟที่ไหม้ป่า ไม่ให้ลุกลามเป็นวงกว้าง หากปล่อยไปแล้วไฟจะลุกลามขึ้นภูเขาสูงจะทำให้ควบคุมไฟอยากขึ้น ซึ่งคาดว่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นน่าจะเกิดจากคนทิ้งก้นบุหรี่ ทำให้เกิดไฟลุกลามจากสภาพอากาศแล้ง ประกอบกับใบไม้เริ่มแห้งไฟจะลุกลามเร็วมาก จึงนำทีมผจญเพลิงร่วมกันดับไฟไม่ให้ลุกลาม แล้วที่ตามมาคือควันทำให้เกิด pm 2.5
ส่วน นายแพทย์ธีรพจน์ ฟักน้อย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี สร้างความรอบรู้ในการเฝ้าระวังภัยสุขภาพจาก ฝุ่น PM 2.5 ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดกาญจนบุรี มีแนวโน้มสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงปลายปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม – เมษายนของทุกปี สาเหตุนอกจากสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้ว ยังเกิดจากการเผาไร่อ้อย ไฟไหม้ป่า การจุดเผาในที่โล่งแจ้ง การใช้ยานพาหนะเครื่องยนต์ที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลักในการคมนาคม ขนส่งมวลชน โรงงานอุตสาหกรรม โรงงานน้ำตาล ขาดความร่วมมือจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในบางพื้นที่ยังคงมีการเผาไร่อ้อยในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต
เข้าสู่โรงงานน้ำตาล ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
โดยในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ขณะนี้ สถานการณ์อยู่ในระดับปานกลางจนถึงระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพเนื่องจาก PM2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนาดที่เล็กมากนี้จะสามารถหลุดรอดการกรองของขนจมูก ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมฝอยและแทรกซึม ผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอย และเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เกิดโรคในหลายระบบ ผลกระทบต่อสุขภาพของ PM 2.5
- ระบบทางเดินหายใจ : ทางเดินหายใจอักเสบ หายใจลำบาก แสบ จมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก ถุงลมแฟบ สมรรถภาพปอดลดลง ภูมิแพ้และหืดกำเริบ
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด : อาจเกิดโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพาตจากหลอดเลือดสมอง
- ระบบตา : ระคายเคืองตา ตาอักเสบ
- ระบบผิวหนัง : คันตามตัว มีผื่น ผู้ป่วยกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ใน 4 กลุ่มโรค พบกลุ่มโรคทางเดินหายใจ มากที่สุด จำนวน 95,896 ราย รองลงมาเป็นกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ จำนวน 46,301 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ จำนวน 39,500 ราย และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 23,014 ราย ตามลำดับ โดยพบกลุ่มโรคทางเดินหายใจมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคม 2566 อาจเป็นช่วงที่สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว
จึงขอแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM 2.5 โดยหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือใส่หน้ากาก N 95 ป้องกันฝุ่นเมื่อออกนอกบ้าน หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คางและต้องแนบสนิทกับใบหน้า ให้ทำความสะอาดบ้าน บ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นภายในบ้าน และงดทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น การเผาขยะ การเผาหญ้าการจอดรถติดเครื่องยนต์ไว้เป็นระยะเวลานาน และหมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติไม่ก่อควันดำ
///////////////////////////////////////////////////////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์