วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ที่สวนรถไฟ อบจ.เชียงใหม่ นายพิชัย หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ.เชียงใหม่ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู การพัฒนาโครงการก่อสร้างถนน โดยใช้นวัตกรรมเครื่องผสมวัสดุผิวทางเก่า (RAP) สำหรับยางมะตอยแบบเย็นชนิด CCPR และ Cold Mix ระหว่าง อบจ. กับ รศ.อัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร ) ล้านนา แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 และบริษัท พีซีเอ็น คอร์ป จำกัด (มหาชน) รวม 4 องค์กร

นายพิชัย เผยว่า พิธีลงนามดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเชียงใหม่ ด้วยนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อบจ.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีอำนาจหน้าที่บริหารการจัดบริการสาธารณะ โดยมีถนนในความรับผิดชอบที่ได้ขึ้นทะเบียนสายทางเสร็จสมบูรณ์แล้ว รวม 134 สายทางมีระยะทางรวม 604.030 กิโลเมตร ซึ่งถนนเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเดินทาง และเป็นทรัพยากรที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน ดังนั้นการร่วมมือกับองค์กรดังกล่าว เพื่อนำวัสดุผิวทางเก่ามาใช้ใหม่ผ่านเทคโนโลยี CCPR และ Cold Mix ถือเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ นวัตกรรม และทรัพยากร เพื่อสร้างถนนแบบ Green Pavement เพื่อลดใช้พลังงานลดต้นทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือดังกล่าว เพื่อนำร่องเป็นต้นแบบ หรือโมเดล พัฒนาถนนของท้องถิ่นทั่วประเทศในอนาคตด้วย
ทั้งนี้การทำเอ็มโอยูดังกล่าว แขวงการทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 ได้ มอบผิวถนนเก่าให้ อบจ. จำนวน 5,000 ตัน เพื่อนำไปผสมกับน้ำยางใหม่ โดยตั้งเครื่องจักรและ ฐานการผลิตภายในสวนรถไฟหากผลิตแบบเย็น ใช้น้ำยางใหม่ผสมแบบ 100 % ปูนซีเมนต์อีก 1.5 % เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทาน ถ้าผลิตแบบร้อน ต้องใช้น้ำยางใหม่ผสม 60 % ยางเก่า 40 % ทั้งนี้วัสดุผิวถนนที่เป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 45-55 % โดยทดลองทำผิวถนนนำร่องภายในสวนรถไฟเป็นแห่งแรกของประเทศด้วย
Discussion about this post