
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 10.30 น. ที่ ดารานาคี (กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ) ต.หอคำ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ นายสมหวัง อารีย์เอื้อ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายณรงค์ศักดิ์ คุรุพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบึงกาฬ นายธนิต รามัญวงศ์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ นายอนุชิต บุญชม ผอ.สวท.บึงกาฬ ผู้แทนพัฒนาชุมชนจังหวัดบึงกาฬ ผู้บริหารเทศบาลตำบลหอคำ นายสหรัถ พิศาลเศรษฐพงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ ผู้แทนประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดบึงกาฬ และสมาชิกกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ ให้การต้อนรับ
โครงการคาราวานรถยนต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามเส้นทาง “แวะ ชิม ช็อป ชม” แหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรมชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อขับเคลื่อนรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) และประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและระดับอาเซียน กิจกรรมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 6 กรกฎาคม 2568 บนเส้นทางเชื่อมโยง 5 จังหวัดริมโขง ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ทั้งจากต้นทุนธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในเขตลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เกิดรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี เพื่อยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานทุนวัฒนธรรม เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในเขตลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเชื่อมโยงกับแนวคิด Soft Power ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม และ สปป.ลาว เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยว จากพื้นที่ 5 จังหวัดในเขตลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมเดินทางกับคณะคาราวานในครั้งนี้
สำหรับ “ดารานาคี” สินค้าผ้าคุณภาพดีที่บึงกาฬ ผ้าหมักโคลนแม่น้ำโขง ย้อมสีจากเปลือกไม้ “กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ” ตั้งอยู่เลขที่ เลขที่ 91 หมู่ที่ 2 บ้านสะง้อ ตำบลหอคำ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ มีผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายเป็นงานผ้าขาวม้าทอมือที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ที่มีในชุมชน แล้วนำไปหมักโคลนแม่น้ำโขงช่วยทำให้ผ้านุ่ม สีเข้มสวย มีความทนทาน กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ มีแม่สมพรทำหน้าที่ประธานกลุ่ม มีสมาชิกประจำจำนวน 35 คน กับสมาชิกเครือข่ายอีกเป็นจำนวนมากทั่วบึงกาฬ ถ้านับจำนวนทั้งหมดประมาณ 70 กว่ากี่ กลุ่มนี้รวบรวมสาวโรงงานตัดเย็บผ้าที่มีประสบการณ์มายาวนานในโรงงานใหญ่หลายแห่งมาร่วมงานเพื่อต้องการยกระดับการตัดเย็บผ้าให้เป็นมืออาชีพได้มาตรฐาน จนได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากกรมพัฒนาชุมชน อีกทั้งยังได้รับมาตรฐาน 5 ดาวทางด้านคุณภาพเนื้อผ้าประจำจังหวัดบึงกาฬ
ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล/บึงกาฬ รายงาน