
เปิดใจ “เภสัชกรปัญญา ธีระกำจาย” อดีตนักกีฬาโรงเรียน ออกกำลังกายเล่นกีฬาเป็นประจำ เชื่อตัวเองสุขภาพแข็งแรง ไม่คิดว่าจะเป็น “สโตรก” หลังเข้าเส้นชัยมาราธอน “วิ่งริมโขง” แก้วน้ำหล่นจากมือ 3 ครั้ง เอ๊ะใจ…เราผิดปกติแล้ว “ร่างกาย แขน-ขา อ่อนแรง ปากเบี้ยว” แพทย์ฉุกเฉินประเมินเป็น “โรคโมยาโมยาสโตรก” เผยช่วงนอนติดเตียง 1 เดือน ทบทวนความคิด หากท้อแท้จะพ่ายแพ้ทุกเรื่อง ครอบครัวให้กำลังใจ ลุกจากเตียงฝึกทำกายภาพและฝึกเดินให้ตรง พยายาม 2 เดือน พอเดินได้ตรงเริ่มฝึกวิ่งเบา ๆ วันละ 1-2 กม. ผ่านเดือนที่ 3 ลงวิ่งรายการมาราธอน ทุกวันนี้ยังวิ่งทุกวัน วันละ 10 กม.เป็นอย่างต่ำ ตั้งเป้าต่อเดือนต้องได้ 200 กิโลเมตร วันนี้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี เชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดนครพนมมาร่วมกันทำให้การออกกำลังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในกิจกรรม “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 11 เฉลิมพระเกียรติ” ในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน 2568 พร้อมกันทั่วประเทศ ลงทะเบียนสมัครได้ที่ www:wrb11.thai.run/event/NPM ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2568 นายปัญญา ธีระกำจาย เภสัชกรชำนาญการพิเศษ อายุ 51 ปี อดีตข้าราชการสังกัดโรงพยาบาลโพนสวรรค์ เปิดเผยว่า โดยพื้นเพผมเป็นคนที่จังหวัดเชียงราย หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มาบรรจุรับราชการในตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ ที่โรงพยาบาลโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี 2541 พออายุราชการครบ 25 ปี ได้ขอเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) เมื่อปี 2565 ในตำแหน่งสุดท้าย “เภสัชกรชำนาญการพิเศษ” ปัจจุบันเปิดร้านขายยา “ปัญญาเภสัช” ที่อำเภอโพนสวรรค์ ในอดีตผมเป็นนักกีฬาของโรงเรียนตั้งแต่อยู่ประถมจนถึงมัธยม ในมหาวิทยาลัยก็เล่นกีฬาอย่างต่อเนื่อง กีฬาที่เล่นเป็นประจําก็คือ เป็นนักฟุตบอลครับ รวมถึงนักตะกร้อ แล้วก็เป็นนักวิ่งระยะสั้น 100 เมตร ทุกวันนี้ก็ยังออกกําลังกายเป็นประจําอยู่ครับ เมื่อปี 2566 ผมไปวิ่งแข่งรายการมาราธอนที่จังหวัดขอนแก่น ต่อมาอีก 1 สัปดาห์ก็เข้าร่วมวิ่งรายการที่อำเภอบ้านแพง ต่อด้วยรายการที่อำเภอท่าอุเทน ในระยะ 10 กิโลเมตร และรายการที่ผมเริ่มเป็น “สโตรก” ก็คือ ร่วมรายการวิ่งริมโขงที่จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งตอนนั้นไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นสโตรก เพราะที่ผ่านมาร่างกายค่อนข้างจะแข็งแรง ตรวจสุขภาพก็ไม่พบในเรื่องของไขมันและเบาหวาน ในการตรวจสุขภาพประจําปีทุกปีก็พยายามมอนิเตอร์ในเรื่องของควบคุมไขมันแล้วก็น้ำตาลอยู่ตลอดครับ “หลังจากเข้าเส้นชัยประมาณครึ่งชั่วโมง ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ แก้วน้ำหล่นจากมือ (ซึ่งมันไม่น่าจะหล่น) แต่ก็หล่นถึง 3 ครั้ง ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ แขนขาอ่อนแรง มือเริ่มอ่อนแรงก่อน ต่อมาที่ขาอ่อนแรง หลังจากนั้นก็ไปที่ปาก ปากเริ่มเบี้ยวผิดปกติ จึงประสานให้แฟนมารับกลับบ้าน แต่คิดว่าน่าจะไปไม่ถึงอำเภอโพนสวรรค์ จึงกลับเข้าไปตรวจที่โรงพยาบาลนครพนม แพทย์ห้องฉุกเฉินประเมินว่าเป็นอาการสโตรก โดยระบุว่า เป็น “โรคโมยาโมยา” (Moyamoya disease) ซึ่งเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่หายากและมีความรุนแรง โดยมีลักษณะเฉพาะ คือ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการตีบตันหรืออุดตัน ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอ และปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เป็นสโตรกได้ง่ายก็คือ ผมมีภาวะที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่มีภาวะเป็นภูมิแพ้” นายปัญญา ธีระกำจาย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากโรคสโตรก ก็คือ จะมีอาการอัมพาตครึ่งซีก โดยเฉพาะด้านซ้ายมือ ผมนอนติดเตียงอยู่ประมาณ 1 เดือน ซึ่งในช่วงที่นอนหนึ่งเดือนนั้น ผมก็พยายามทบทวนหลายๆ อย่าง เรามีความคิดว่า ถ้าสมมุติเรานอนติดเตียง “กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง” เราจะต้องนอนไปตลอด ซึ่งมันจะทําให้เกิดความท้อใจและพ่ายแพ้ในหลายๆ เรื่อง ผมก็เลยพยายามที่จะลุกขึ้น โดยได้รับกําลังใจจากครอบครัว ให้กําลังใจว่าเราสักวันต้องลุกขึ้นมาเดินได้ ผมพยายามอยู่ 2 เดือน เริ่มจากการฝึกทํากายภาพ ฝึกเดินให้ได้ตรงก่อน หลังจากนั้นพอเดินได้เราก็เลยฝึกวิ่งครับ เริ่มเบา ๆ ก่อน ประมาณวันละ 1-2 กิโลเมตร พอผ่านเดือนที่ 2 ผมก็ลงรายการแข่งวิ่งมาราธอนเลย เริ่มจากรายการเบา ๆ 10 กิโลเมตรก่อน “ทุกวันนี้ก็ยังวิ่งทุกวันครับ โดยเฉพาะตื่นเช้ามาจะต้องมีเวลาให้กับการออกกําลังกาย ผมจะวิ่งวประมาณวันละ 10 กิโลเมตร เป็นอย่างต่ำ ตั้งเป้าหมายต่อเดือนอย่างน้อยต้องได้ 200 กิโลเมตรครับ เพื่อให้ฟื้นในเรื่องของสมรรถภาพร่างกายของเราให้คงที่มากที่สุดครับ ผมเชื่อว่าการออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด “โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke” แล้ว หากพลาดว่าเราประสบกับภาวะสโตรค ก็จะทำให้เราฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย อันนี้เป็นข้อดีของการออกำลังกาย ทำให้สุขภาพและอารมย์ของเราเป็นปกติดี มีการใช้ชีวิตที่มีความสุขหลังการออกกำลังกาย” นายปัญญา ธีระกำจาย อดีตข้าราชการสังกัดโรงพยาบาลโพนสวรรค์ กล่าว สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดนครพนมมาร่วมกันทำให้การออกกำลังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในกิจกรรม “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 11 เฉลิมพระเกียรติ” ในวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายน 2568 พร้อมกันทั่วประเทศ ลงทะเบียนสมัครได้ที่ www:wrb11.thai.run/event/NPM (ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2568) ค่าสมัคร 360 บาท สำหรับประชาชนทั่วไป เยาวชน อายุ 7-18 ปี ค่าสมัคร 240 บาท 30 เปอร์เซ็นต์ ของรายได้จากการจัดกิจกรรม ส่งมอบให้มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อสนับสนุนโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ พิเศษ ผู้สมัครทุกคนสามารถนำเงินค่าสมัครไปลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า และได้รับการประกันอุบัติเหตุตามเงื่อนไขที่กำหนด อนึ่ง “ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล” กำหนดจัดกิจกรรมโครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นประจำทุกปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนชาวไทยตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งยังเป็นการรณรงค์เชิญชวนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ได้ออกกำลังกายอย่างง่าย และในปี 2568 นี้ ได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 โดยใช้ชื่อว่า “โครงการแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 11 เฉลิมพระเกียรติฯ” หัวข้อ “ออกกำลังเป็นนิสัย ห่างไกลสโตรค (No Stop No STROKE)”
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุลผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครพนมโทร084-934075-0
Discussion about this post