จากกรณีเพจข่าวบ้านผือ ได้โพสต์ภาพรถไถตักซากควายที่ป่วยเสียชีวิตนำมาฝังกลบ พร้อมกับระบุข้อความว่า “#วอนตรวจสอบควายดับไม่ทราบสาเหตุ 3 ตัว หวั่นโรคระบาดควาย นายสำเนียง ผาลา อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 74 หมู่ 4 บ้านเหล่าคราม ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี !!!” หลังจากโพสต์ไม่นานมีชาวบ้านผู้เลี้ยงวัวควาย ต่างพากันผวากลัวจะเป็นโรคระบาดมา ต่างมาแสดงความสงสาร และหวาดกลัวกันเป็นจำนวนมาก
ที่แน่ๆ เมื่อ 5 ปีก่อนเจ้าของควายรายนี้ก็สูญเสียควายไปจากโรคนี้ 3 ตัวเช่นกันปศุสัตว์บ้านผือนำสัตวแพทย์มาตัดชิ้นเนื้อไปตรวจจนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ทราบผลจนควายของเจ้าเดิมมาตายลักษณะเดียวกันอีก

ต่อมาเมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 14 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่คอกควายในสวนยางพาราท้ายหมู่บ้าน ม.4 บ.เหล่าคราม ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พบกับนางทาริกา แดงนา อายุ 42 ปี และนายสำเนียง ผาลา อายุ 51 ปี สามีภรรยาเจ้าของควายที่เสียชีวิตทั้ง 3 ตัว เป็นเพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 1 ตัว อายุระหว่าง 1-2 ปี จากที่เลี้ยงไว้ขายทั้งหมด 13 ตัว ป่วยเสียชีวิตช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ค.2568 จำนวน 1 ตัว ต่อด้วยช่วงเช้ามืดวันที่ 10 ก.ค. 2568 จำนวน 1 ตัว และเช้าวันนี้เสียชีวิตไปอีก 1 ตัว
และในซึ่งช่วงเช้าวันนี้ นายชัยวุฒิ ถูไกรวงศ์ ปศอ.บ้านผือ นำสัตวแพทย์ มาตรวจสอบซากควาย และทำการตัดชิ้นเนื้อและอวัยวะภายใน เพื่อส่งตรวจหาสาเหตุที่ จ.ขอนแก่น ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ หลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มาทำการฉีดยาปฏิชีวนะ และยาบำรุงให้กับควายที่ยังมีชีวิตทั้งหมด 10 ตัว หลังจากนั้นได้ประสานรถไถจาก อบต.จำปาโมง มาขุดหลุมไถฝังกลบ พร้อมกับโรยยาฆ่าเชื้อ และให้เจ้าของควายขนย้ายควายไปเลี้ยงที่คอกของญาติ ที่อยู่ห่างไปประมาณ 3 ก.ม. เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ ระหว่างรอผลตรวจที่แน่ชัด
นางทาริกา กล่าวทั้งน้ำตาว่าได้เลี้ยงควายไว้ขายมา 21 ปี โดยแบ่งขายให้ชาวบ้านในราคาไม่แพง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2563 ควายของตนป่วยเสียชีวิต 3 ตัว มีอาการฉี่เป็นสีแดงเข้ม ซึม ไม่กินหญ้าประมาณ 2-3 วัน ก็ล้มตาย และสัตวแพทย์ก็ได้ผ่านำชิ้นเนื้ออวัยวะภายในไปตรวจหาสาเหตุ แต่ก็ไม่ได้มาแจ้งว่าตายจากสาเหตุอะไร ผ่านไป 5 ปี ก็มาป่วยตายติดต่อกัน 3 ตัว ในแบบอาการเดิม หลังควายตายไป 2 ตัว สัตวแพทย์ก็มาดูอาการและฉีดยาให้ ซึ่งหมอก็ไม่บอกว่าควายป่วยเป็นอะไรตาย และรักษาตามอาการ พร้อมกับแนะนำให้ย้ายคอกป้องกันการระบาด
“ตนก็ย้ายคอกเมื่อวาน แล้วควายก็มาป่วยตายที่คอกใหม่อีก 1 ตัว ซึ่งเป็นคอกควายของญาติที่เลิกเลี้ยงวัวควายแล้ว วันนี้หมอได้ผ่าเอาชิ้นเนื้อเครื่องในไปตรวจหาสาเหตุที่ จ.ขอนแก่น ในวันพรุ่งนี้ ถ้าหมอบอกสาเหตุให้ตนรู้ ก็จะดูแลรักษาไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบนี้อีก ตนเลี้ยงควายเพราะความรัก จนมีความผูกพันกับควายทุกตัว ถ้าใครมาถามซื้อไปฆ่ากิน ตนจะไม่ขายให้ ตนจะขายให้คนที่จะซื้อไปเลี้ยง เพาะพันธุ์ขายเท่านั้น รวมมูลค่าที่ตนสูญเสียควายไป 3 ตัว ประมาณ 5 หมื่นบาท เพราะตอนนี้ราคาวัวควายถูกลงมากกว่าเดิม”
ที่สนง.ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี นายสุมนชาติ แสงปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า วันนี้ได้รับการรายงานจากพื้นที่ในอำเภอบ้านผือ ว่ามีกระบือของพี่น้องเกษตรกร บ.เหล่าคราม ต.จำปาโมง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ได้ป่วยตายจำนวน 3 ตัว ซึ่ง สนงปศุสัตว์อำเภอบ้านผือ ได้ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกร และมีเหตุการณ์คล้ายๆกันเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในพื้นที่ของเกษตรกรเจ้าเดิม และเป็นในห้วงเวลาใกล้เคียงกันในหน้าฝน
“ซึ่งฟังจากอาการของทางเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่า มีลักษณะคล้ายกันเหมือนกับเหตุการณ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือซึม ไม่กินหญ้า ถ่ายปัสสาวะมีสีดำเข้ม หรือสีน้ำโค๊ก เป็นอาการที่ชัดเจนเหมือน โรคพยาธิในเม็ดเลือด ทางเราก็มีการส่ง ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยทางห้องปฏิบัติการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จ.ขอนแก่น และจะเร่งรัดในการตรวจพิสูจน์ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด”
นายสุมนชาติ กล่าวต่อไปอีกว่าส่วนวิธีการป้องกันโรคพยาธิในเม็ดเลือด ให้กับพี่น้องประชาชนชาวเกษตรกร พยาธิตัวนี้จะเป็นเชื้อชนิดหนึ่ง ที่สามารถเข้าไปในร่างกายของโคกระบือได้ โดยมีสัตว์หรือแมลง เป็นพาหะนำโรค คือเห็บ ซึ่งจะนำเชื้อที่เรียกว่าโปรโตซัวเข้าสู่ร่างกายสัตว์โดยการกัดแล้วดูดเลือด เชื้อตัวนี้ก็จะเป็นโรคระบาดที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าสัตว์ได้ติดเชื้อโรคนี้ ก็จะทำให้เสียชีวิตภายใน 3 วัน ซึ่งมันก็ทำให้โคกระบือที่เป็นทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก เป็นสิ่งที่น่าเห็นใจของเกษตรกร
“เราสามารถเฝ้าระวังได้ของโรคไข้เห็บหรือพยาธิในเลือด โดยการสังเกตุ โคกระบือของตนเองว่า โคกระบือมีสุขภาพปกติดีไหม ผิวหนังเป็นยังไง มีเห็บหรืออะไรมาเกาะดูดเลือดเยอะหรือไม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่รบกวน ต้องหมั่นคอยดูแลและคอยสังเกต โดยเฉพาะหน้าฝนอากาศชื้นแฉะ มันก็จะยิ่งทำให้สัตว์เหล่านี้มาเกาะที่โคกระบือเรามากขึ้น เช่นเห็บ เหลือบ ยุง จะทำให้โคกระบือพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งทางเราได้เป็นห่วงทางพี่น้องเกษตรกร วิธีป้องกันที่จะไม่ให้ทางเห็บเหลือบและยุง มาเกาะโคกระบือ ในเบื้องต้นเราจะใช้ยาเส้น ใบสะเดา และตะไคร้ มาตำมาทุบและละลายในน้ำ แล้วชุบผ้ามาทาที่ตัวสัตว์ หรือถ้าเราเห็นตัวเห็บเราก็สามารถดึงออกตามราวนม ใบหู และอัณฑะของโคกระบือ แล้วนำไปใส่ขวดน้ำที่ใส่น้ำไว้ เพื่อให้เห็บเสียชีวิต หรือถ้าอยากจะใช้สารเคมีที่ออกฤทธิ์รวดเร็วก็สามารถติดต่อทางปศุสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ จะให้คำแนะนำวิธีการใช้ยาป้องกันรักษาอย่างถูกต้อง”
Discussion about this post