
จากเหตุการณ์ ที่ ชาวเด่นชัย จ.แพร่ และนักอนุรักษ์” ให้ความสนใจเกี่ยวกับการตัดไม้ข้างถนนข้างคลองชลประทาน หมู่ 3 และหมู่ 7 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ นั้น ่และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ความคืบหน้าการตรวจสอบการตัดไม้หวงห้ามจำพวกไม้สักทอง และไม้ประจำจังหวัดได้แก่ ต้นยมหิน ชาวบ้าน เป็นผู้ร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ให้มีการตรวจสอบ แต่ไม่ให้ความสำคัญชาวบ้านสุดท้าย ร้องผ่านสื่อ และได้นำเสนอข่าเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา
จากเรื่องดังกล่าว เวลา 13.00 น. วันที่ 21 กันยายน 2564 นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายควบคุมการตัดต้นไม้ ออกไปตรวจสอบ พบว่ามีการตัดไม้ สักทอง ไม้ยมหิน และไม้สะเดา สำหรับผู้ดำเนินการตัด คือกรมชลประทาน โดยมีพนักงาน ของเทศบาลตำบลแม่จั๊วะนำรถของเทศบาลฯ เป็นผู้ลำเลียงไม้ ที่ตัดแล้วออกจากพื้นที่
ทางนายวสันต์สำเนียง รองนายก เทศมนตรีตำบลแม่จั๊วะ ร่วมในการตรวจสอบ และกล่าวว่า ทางเทศบาลฯ นำรถเข้ามาช่วย ลำเลียงไม้ออกจากบริเวณดังกล่าว ซึ่งกีดขวางการทำงานของกรมชลประทาน ส่วนไม้สัก ไม้ยมหินและไม้สะเดา ที่ตัดโค่นลงมา ได้นำไปใช้สาธารณะประโยชน์ให้กับชุมชน
ส่วนนายธีระ นาคฉ่ำ หน.ฝ่ายสำนักบำรุงรักษาที่ 3 แม่ยม (อ.เมืองแพร่ สูงเม่น และเด่นชัย) ได้นำหลักฐานที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานและจุดที่มีการตัดไม้สักฯ ดังกล่าว มายืนยันกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า กรมชลประทาน ดำเนินการตัดไม้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องขออนุญาตผู้ใด และไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ โดยได้มีการหารือร่วมกันกับเทศบาลตำบลแม่จั๊วะและผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ส่วนผู้ใหญ่หมู่ที่ 7 ไม่ได้เชิญเข้าร่วมประชุม อย่างไรก็ตาม นายธีระ กล่าวด้วยว่า ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมคลองชลประทานเหล่านี้เป็นต้นไม้ที่ปลูกโดยผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นต้นไม้ ที่บุกรุก ที่ดินของทางราชการ โดยขณะนี้ ได้รับงบประมาณเร่งด่วน เข้ามาทำงาน เก็บวัชพืช ในคลองส่งน้ำแม่ยมด้านตะวันออกของแม่น้ำยม พบว่าผักตบชวาและต้นสัก ต้นยมหินและต้นสะเดา เป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำ จึงได้ทำการ ตัดโค่น ไม้ดังกล่าวออก ซึ่งเป็นการกระทำโดยชอบธรรม ของกรมชลประทานแล้ว
ในเรื่องนี้ทางผู้สื่อข่าวถามว่า การตัดไม้ในที่ดินของทางราชการ รายการสร้างทางหลวงแผ่นดินทางหลวงจังหวัดทุกสายต้องขออนุญาต จากกรมป่าไม้ และให้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เข้ามาตรวจวัด ตีตราเพื่อดำเนินการตัดเป็นการป้องกัน ไม่ให้ไม้เหล่านี้เข้าไปสู่ระบบไม้เถื่อน นายธีระ ตอบว่า เป็นสิทธิ์ของกรมชลประทานการเข้ามาตัดแล้วก็แจ้งให้กับสำนักงานราชพัสดุจังหวัดแพร่ก็เพียงพอแล้ว แต่ขณะนี้ที่ดำเนินการไปเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เร่งดำเนินการขุดลอกคลองชลประทานจึงยังไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดหรือหน่วยงานใด

และในวันเดียวกัน นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้, สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ โดยการอำนวยการสั่งการของนายประสิทธิ์ ท่าช้าง ผอ.สจป.ที่ 3 สาขาแพร่ นายชาตรี สัทธรรมนุวงค์ ผอ.ส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าและนายเสน่ห์ แสนมูล ผอ.ศูนย์ป่าไม้แพร่ ได้สั่งการสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ร่วมกับนายเสถียร อิสระเศรษฐพงศ์ ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อำเภอเด่นชัย นายธีระ นาคฉ่ำ หัวหน้าฝ่าย สำนักบำรุงรักษาที่ 3 แม่ยม ตัวแทนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จ.แพร่ กรมชลประทาน นายวสันต์ สำเนียง รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่จั๊วะ ตำรวจ สภ.เด่นชัย และผู้ใหญ่บ้านบ้าน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีการร้องเรียนผ่านทางสื่อออนไลน์ว่า มีการตัดไม้มีค่าข้างทางโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือเสียงทักท้วงของชาวบ้าน ต้นไม้มีค่าได้แก่ ไม้สักทอง และไม้ยมหิน ซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดแพร่ ถูกตัดไปกว่า 10 ต้น เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 มีรถบรรทุกติดตราเครื่องหมายหน่วยงานราชการสังกัดท้องถิ่นขนย้ายไม้ไปในหมู่บ้านแม่จั๊วะ ม.7 ต.แม่จั๊วะ อ.เด่นชัย จ.แพร่
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฯ ปรากฎ ดังนี้ 1. มีการตัดไม้ที่บริเวณคันคลองชลประทานบ้านแม่จั๊วะ หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 7 ฯ จริง พบแต่ตอไม้ชนิดสัก ประดู่ สะเดา ยมหิน คูณ รวมจำนวน 25 ตอ 2. พบมีการนำไม้ท่อนไปเก็บไว้ที่ศาลาเอนกประสงค์บ้านแม่จั๊วะ ม.3 จำนวน 13 ท่อน และนำไปเก็บไว้ที่ข้างวัดใหม่วงค์วรรณ หมู่ 5 ต.แม่จั๊วะ จำนวน 4 ท่อน 2 ชิ้น 3. บริเวณที่มีการตัดไม้บนคันคลองชลประทานดังกล่าว อยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง (ใช้ในราชการกรมชลประทาน) ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เลขที่ 34657 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ 4. มอบให้เจ้าหน้าที่โครงการส่งนำ้และบำรุงรักษาแม่ยม จังหวัดแพร่ รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในการตรวจสอบไม้ที่ตัดออกทางกรมชลประทานอ้างว่านำไปใช้สาธารณะประโยชน์ในหมู่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เข้าตรวจสอบ ดังกล่าวพบว่าไม้ที่เหลือให้ตรวจสอบเป็นไม้ส่วนยอดของลำต้น ส่วนจากโคลนถึงกลางลำต้นหายไปทั้งหมดและไม้ยมหินซึ่งเป็นไม้ประจำจังหวัดที่ปลูกโดยการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ของทางอำเภอเด่นชัย ขณะนี้หาไม่พบซากไม้ที่ตัดออกจากเรื่องดังกล่าวชาวบ้านในตำบลแม่จั๊วะ และนักอนุรักษ์ สงสัยว่า เมื่อประชาชนตัดไม้ในที่ดินของตัวเองหรือหน่วยงานอื่นเช่น กรมทางหลวงตัดไม้ริมทางถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ในการควบคุมการทำไม้เถื่อน แต่กรณีของกรมชลประทานกลับได้รับการยกเว้น จึงมีความสงสัยว่าประเทศไทยใช้กฎหมายเดียวกันหรือไม่
ธีรพงษ์ ธงออน/แพร่
Discussion about this post