
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 2 พ.ย. ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง หมู่ที่ 15 ตำบลควนมะพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ประธานประชุมโครงการวิจัย โครงการทดสอบพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของประเทศไทย พร้อมนำเจ้าหน้าที่ทางด้านการเกษตรหลายหน่วยงานนำร่องปลูกต้นกัญชง จำนวน 200 ต้น แบบกลางแจ้ง (Outdoor) โดยโครงการวิจัยฯ นี้ ดำเนินการทดสอบพันธุ์กัญชงพื้นเมืองและสายพันธุ์ต่างประเทศที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อการอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การดำเนินโครงการวิจัย นั้นมี ๒ แบบ คือ การทดสอบพันธุ์กัญชงสำหรับการผลิตเมล็ด จำนวน ๒ สายพันธุ์ ดำเนินการในพื้นที่ แบบกลางแจ้ง (Outdoor) พื้นที่ 1,953 ตร.ม.. ในพื้นที่แบบโรงเรือนทั่วไปที่ไมใช่ระบบปิด (Greenhouse) พื้นที่ 152 ตร.ม.) ต้นกล้ากัญชงอายุ 1 เดือน ลงแปลงปลูกกลางแจ้ง จำนวน 2 สายพันธุ์ คือRPF 1 และ RPF 3 (สายพันธุ์จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)
วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย เพื่อศึกษาและทดสอบพันธุ์กัญชงทั้งสายพันธุ์พื้นเมืองและสายพันธุ์ต่างประเทศที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการปลูก/ผลิตกัญชงที่เหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของเส้นใยมีความละเอียดใกล้เคียงกับลินิน มีความเหนียวทนทาน และมีความเงางาม ครบถ้วนคุณสมบัติเส้นใยชั้นดี จึงเป็นเส้นใยชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ในปัจจุบันผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการมากนอกจากนั้น ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชงใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง, สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาปลูกจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้ กัญชง (Hemp) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. sativa โดยทั่วไปจะมีลำต้นสูงกว่ากัญชา หรือสูงมากกว่า 2 เมตร มีลักษณะลำต้นสูงเรียว แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ปล้องหรือข้อยาว ใบสีเขียวอ่อน มีประมาณ 7-11 แฉก โดยใบมีการเรียงสลับค่อนข้างห่างอย่างชัดเจน กัญชงจะออกดอกเมื่ออายุมากกว่า 4 เดือน และช่อดอกมียางไม่มาก
Discussion about this post