
วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง นายก อบจ.เชียงใหม่ ได้มอบเงินจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 : Moderna และวัสดุ-อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ป้องกันโควิด 19 โดยมอบเงินแก่ นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์น่า จำนวน 60,000 โด๊ส ๆ ละ 1,160 บาท รวมเป็นเงิน 69,600,000 บาท พร้อมมอบชุดตรวจแบบหาแอนติเจน หรือ ATK จำนวน 30,000 ชุดแก่นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนมอบตู้เก็บวัคซีนโมเดอร์น่า ให้แก่ นพ.เศรษฐพงศ์ บุญศรี รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครมหาราชนครเชียงใหม่ และ นพ.ธีรวัฒน์ วงศ์ตัน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์แห่งละ 1 ตู้ มี นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณแพทยศาสตร์ และ น.พ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศรีพัฒน์ มช. ร่วมเป็นสักขีพยาน ก่อนนายพิชัย ได้มอบช่อดอกไม้แก่นายวรวิทย์ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
นายพิชัย กล่าวว่า สภา อบจ.ได้พิจารณาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์น่า ผ่านสภากาชาดไทย ครั้งแรก จำนวน 100,000 โด๊ส วงเงิน 110 ล้านบาท โดยได้รับวัคซีนดังกล่าว เพื่อฉีดให้ประชาชน 5 กลุ่มเสี่ยง ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนตามเงื่อนไขสภากาชาดไทย วันที่ 7-8 พฤศจิกายนนี้ ส่วนการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์น่าผ่านคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นครั้งที่ 2 วงเงิน 69,600,000 บาท โดยให้คณะกรรม การควบคุมโรคติอต่อจังหวัดเป็นผู้จัดสรรการจัดวัคซีนดังกล่าว ไม่เกี่ยวกับสภากาชาดไทยอย่างใด

“อบจ.จัดซื้อวัคซีนทางเลือก ที่ไม่ซ้ำกับวัคซีนรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง และเติมเต็มฉีดวัคซีนให้ได้ 70-80 % ตามเป้าหมายจังหวัด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งพร้อมจัดสรรงบในปี 65 จัดซื้อวัคซีนและชุดตรวจ ATK เพิ่มเติมได้ หากได้รับการร้องขอจากทางจังหวัดและองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) 211 แห่ง พร้อมจัดหาถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับกระทบโควิดไปกว่า 100,000 ชุดแล้ว เนื่องจากมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือ CI ทุกตำบล เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และรักษาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งซื้อรถตรวจหาเชิงรุก 2 คัน รถตรวจแล็ปโควิด อีก 1 คัน รวม 3 คัน มูลค่า 10 ล้านบาท เพื่อบริการประชาชนอำเภอรอบนอกด้วย” นายพิชัย กล่าว
ด้านนายวรวิทย์ กล่าวว่า ได้บูรณาการร่วมกับ อบจ. จัดซื้อวัคซีนฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน พร้อมตั้งโรงพยาบาลสนามในชุมชน หรือ CI ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำนวน 3,800 เตียง เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาดวงกว้าง โดยเฉพาะ CI ที่รองรับแรงงานต่างด้าวในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เขต 4 มุมเมือง จำนวน 500 เตียง ซึ่งมีต่างด้าวเข้ารับรักษาใน CI ของโรงเรียนเทศบาลวัดศรีดอนไชย จำนวน 70 เตียง จาก 120เตียงแล้ว จึงเหลือเตียงรองรับผู้ป่วยเพียงพอ เพื่อตัดวงจรแพร่ระบาดให้อยู่
ในวงจำกัด
/////////////////////////
ทีมข่าว Talknews online รายงาน
Discussion about this post