ARDA จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร โชว์นวัตกรรมงานวิจัยเพาะพันธุ์หอยแครงที่ “สมุทรสงคราม ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตรไทยอย่างยั่งยืน
เวลา 09.30 น. วันที่ 20 ม.ค. 2568 ที่ วรเดช ฟาร์ม ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัญจร” ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมงานวิจัย ARDA สู่ความมั่นคงด้านอาหารและภาคการเกษตรไทยที่ยั่งยืน” โดยนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมนวัตกรรมงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก ARDA เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นและสร้างการยอมรับ อุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตรของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 20 -21 มกราคม 2568 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม และเพชรบุรี

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ในขณะเดียวกันความปลอดภัยด้านอาหารและสุขอนามัยของประชาชนกำลังเป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามองเช่นเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นแต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรฐานราก ซึ่งจะเป็นการสร้างและกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในครั้งนี้ ทาง ARDA ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมนวัตกรรมงานวิจัยที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในการยกระดับวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารที่มาจากภาคเกษตรกร รวมถึงการแปรรูปเป็นอาหารที่สร้างมูลค่า ภายใต้นโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีการลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาการเพาะพันธุ์และอนุบาลหอยแครง Tegillorca granosa (Linnoeus, 1758) โดยร่วมกับฟาร์มเพาะเลี้ยงของเกษตรกร” ณ วรเดชฟาร์ม ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม โครงการวิจัยที่มุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระดับสูงมาสร้างความยั่งยืนให้ทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากหอยแครงมีผลผลิตในธรรมชาติลดลงส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจนเกิดปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงและความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทย ย้อนกลับไป 20 ปี พบว่าประเทศไทยเคยมีผลผลิตหอยแครงสูงสุดถึง 82,000 ตัน/ปี และมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ จนในปี 2565 จากสถิติของกรมประมงพบว่า ผลผลิตหอยแครงทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 32,600 ตัน/ปี จังหวัดสมุทรสงครามเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาดังกล่าว
สภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามได้แจ้งปัญหาไปยัง ARDA เพื่อหาแนวทางในการใช้เทคโนโลยีช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ARDA ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนจึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมประมง เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกหอยโดยใช้พ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่ตำบลคลองโคน ตั้งแต่การรวบรวมพันธุ์หอยแครงมากระตุ้นให้ปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ด้วยวิธีการผสมเทียม(Artificial Breeding) การเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืชเพื่อใช้เป็นอาหารลูกหอยระยะว่ายน้ำและระยะลงเกาะช่วงแรก เพื่อให้ได้ลูกหอยขนาด 5 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีอัตราการรอดสูงและเกษตรกรสามารถนำไปเลี้ยงต่อให้เป็นหอยแครงขนาดใหญ่ สำหรับผลการดำเนินงานในปัจจุบัน ทางคณะวิจัยสามารถเพาะอนุบาลลูกหอยแครงได้ขนาดมากกว่า 1 มิลลิเมตร รวมกว่า 1 แสนตัว และเตรียมนำไปอนุบาลต่อไป โครงการวิจัยนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการพึ่งพาการเก็บเกี่ยวหอยแครงจากธรรมชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดของลูกหอย ลดการใช้ลูกพันธุ์หอยหอยต่างถิ่น ลดความเสี่ยงจากโรค และช่วยฟื้นฟูประชากรหอยแครงในธรรมชาติ ซึ่งจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มศักยภาพการเพาะเลี้ยงหอยแครง ให้พร้อมแข่งขันในตลาดอาหารทะเลในระดับโลกควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ตอบสนองต่อเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง
///// ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสมุทรสงคราม /////
Discussion about this post