
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)ได้มอบหมายให้ นายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3(บ้านโป่ง)เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เพื่อให้การประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นไปอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ
โดยมีนายประวุธ เปรมปรีย์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ นายวสันต์ สุนจิรัตน์ ประธานเครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าและสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ บ้านแก่งปลากด ต.ช่องสะเดา อ.เมืองกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึงประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ผู้ขออนุญาตหรือผู้ได้รับอนุญาตครอบครอง เพาะพันธุ์ ค้า นำเข้าส่งออก สมาคม ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบกิจการสวนสัตว์ อยู่อาศัยหรือทำกินภายใต้โครงการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรือเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2567 เข้าร่วม
ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 และมาตรา 258 (ค) ด้านกฎหมาย (1) และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 มาตรา 32 ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ให้ทำการประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างน้อยทุก 5 ปี นับแต่วันที่กฎหมายเริ่มมีผลใช้บังคับ หรือทุกรอบระยะเวลาอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
ในฐานะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอข้อเสนอแนะ ตลอดจนแบ่งปันประสบการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในอนาคตมีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้ดียิ่งขึ้น
และนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอดคล้องกับหลักสากลและพันธกรณีระหว่างประเทศการลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งของกฎหมาย โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ จัดขึ้นระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.ของวันที่ 14 ก.ค.68 ที่ห้องประชุมRS GRAND BALLROOM ชั้น 5 โรงแรมอาร์.เอส. (ราชศุภมิตร) กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งสิ้น 122 คน
///////////////////
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์
Discussion about this post