วันที่ 16 กันยายน 2564 นายยงยุทธ์ นิลทา เกษตรกรเลี้ยงหมูบ้านนาราชควายน้อยหมู่ 5 ต.นาราชควาย อ.เมือง จ.นครพนม ได้แจ้งต่อปศุสัตว์อำเภอฯ รวมถึงป้องกันสาธารณภัยฯ และ อบต.นาราชควาย ว่า พบหมูตายจำนวน 1 ตัวอาจเกิดจากโรคระบาด PRRS หรือโรคเพิร์ส เจ้าหน้าที่จึงลงพื้นที่ตรวจสอบ พบเพิ่มเติมว่าในจุดเดียวกัน มีหมูอีก 39 ตัว มีอาการซึมไม่กินอาหาร เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ฯได้เล่ารายละเอียดของโรค เพราะยังมีเล้าหมูแห่งอื่นที่อยู่ในรัศมีของการเกิดโรคระบาด เจ้าของผู้เลี้ยงจึงยินยอมให้ทำลายเพื่อป้องกันตัดวงจรของโรคระบาด ปศุสัตว์จึงได้ทำลายซากจำนวนที่เหลือ 39 ตัว รวมเป็น 40 ตัว ดำเนินการการฝังกลบฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงตามขั้นตอน
ก่อนหน้านี้ในพื้นที่บ้านนาราชควายน้อยหมู่ 5 ต.นาราชควาย มีหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุจำนวน 52 ตัว จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่าเกิดจากโรค PRRS ที่ระบาดในสัตว์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจึงได้ฆ่าทำลายหมูที่เหลือทั้งหมด และดำเนินการฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาก่อนทำการฝังกลบ ถัดมาไม่กี่วันก็พบหมูตายในพื้นที่บ้านนาโพธิ์ หมู่ 5 หมู่ 17 ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม กว่า 100 ตัว ปศุสัตว์จังหวัดฯ จึงเจาะเลือดหมูที่ป่วยส่งตรวจหาเชื้อที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จังหวัดขอนแก่น ปรากฏว่าหมูที่ตายเป็นโรค PRRS หรือโรคเพิร์ส ทางจังหวัดนครพนมจึงประกาศพื้นที่บ้านนาราชควายน้อยหมู่ 5 ต.นาราชควาย และพื้นที่หมู่ 5 และหมู่ 17 บ้านนาโพธิ์ ต.บ้านผึ้ง อ.เมืองนครพนม ให้เป็นพื้นที่ควบคุมโรคระบาด พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ. ศ. 2558 พร้อมกำหนดค่าใช้จ่ายราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องเป็นโรคระบาดฯ พ.ศ.2560 ข้อ 4 ในอัตราไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของราคาสัตว์ต่อไป
โรคเพิร์ส หรือ PRRS เป็นโรคระบาดในหมูชนิดระบาดทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ โดยลำพังเชื้อไวรัส PRRS เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้หมูแสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด แต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ มาประกอบกัน จึงทำให้แสดงอาการของโรคได้ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อไวรัส การจัดการดูแลสุขภาพสัตว์ความสะอาดในฟาร์ม การถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือน และสุขภาพของหมูในฝูง เมื่อมีการติดเชื้อครั้งแรกในฟาร์ม เชื้อจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วหมูพันธุ์จะแท้งในช่วงท้ายของการตั้งท้อง มีลูกตายแรกคลอด หรืออ่อนแอ แคระแกร็น โตช้า ลูกหมูดูดนมจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หลังจากนั้นเชื้อจะแพร่ระบาดในฟาร์มอย่างช้า ๆ
ส่วนการป้องกัน 1.หมูที่จะนำเข้ามาทดแทนในฝูง ควรมาจากแหล่งที่ปลอดเชื้อไวรัส PRRS 2.ก่อนจะนำหมูใหม่เข้ามารวมฝูง ควรทำการกักกันอย่างน้อย 2 ขั้นตอน คือ กักที่ต้นทางก่อนการเคลื่อนย้าย และกักที่ปลายทางก่อนนำเข้ารวมฝูง ซึ่งระหว่างที่กักควรสุ่มตรวจหาโรค โดยวิธีทางซีรั่มวิทยาด้วย 3.จำกัดและควบคุมการเข้าออกฟาร์ม โดยอาจให้มีการเปลี่ยนเสื้อผ้า หรือพ่น น้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม
วิธีการรักษาเนื่องจากโรค PRRS มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสจึงยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ การรักษาหมูที่ป่วยโรคนี้ จึงเป็นการรักษาตามอาการป่วย และการบำรุงร่างกายสัตว์ป่วย เช่น การให้สารเกลือแร่ วิตามิน การเปลี่ยนสูตรอาหารที่ให้พลังงานสูง และให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งอาจให้โดยการฉีด ผสมน้ำ หรือผสมอาหาร เป็นต้น.
Discussion about this post