วันที่ 28 กันยายน 2564 ที่โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายอัคคพาคย์ อินทรประพงศ์ ทนายความ พร้อมนางสุภาภรณ์ ไชยพันธ์ ที่ปรึกษานางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตรภรรยานายชูชาติ กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา ต.แม่แรม อ.แม่ริมซึ่งได้ล่วงลับ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 ได้แถลงข่าวกรณีนางอัญชลีกัลมาพิจิตร บุตรสาวได้โพสต์เฟชบุ๊ค “Anchalee Bunarat” ความจริงที่คนแม่สาควรต้องรู้ รวม 17 ข้อ เมื่อวันที่ 26 กันยายน หรือ 2 วันที่ผ่านมา ว่า เนื้อหาบางส่วนได้พาดพิงนางฐิติรัตน์ เนื่องจากเป็น 1 ใน 3 กรรมการบริหารปางช้างดังกล่าว ประเด็นสำคัญ คือ นางอัญชลี ต้องการถอนเงินที่อยู่ในบัญชี จำนวน 18 ล้านบาท เพื่อนำมาบริหารจัดการปางช้างโดยอ้างการระบาดโควิด 19 ทำให้ค้างจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างพนักงาน3 เดือน และไม่มีเงินซื้ออาหารเลี้ยงช้างกว่า 70 เชือกอย่างเพียงพอนั้น
“อยากชี้แจงว่า นางฐิติรัตน์ ไม่เคยชี้แจงหรือตอบโต้ใด ๆ เพราะถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปบริหารปางช้างแม่สาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีปัญหาฟ้องร้องกับนางอัญชลี ที่เป็นลูกเลี้ยงอยู่ เรื่องพินัยกรรมมรดกนายชูชาติ แต่นางฐิติรัตน์ ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชูชาติ ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็น 1ใน 6 ที่พินัยกรรมระบุได้รับมรดกดังกล่าว ซึ่งคดีฟ้องร้องยังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฏีกาอยู่ ถ้าคดีสิ้นสุด นางฐิติรัตน์ พร้อมโอนทรัพย์สินดังกล่าวไปให้นางอัญชลี ตามคำพิพากษาศาลฏีกาทันที โดยไม่มีเงื่อนไข หรือคัดค้านอย่างใด” นายอัคคพาทย์ กล่าว
ช่วง 2 ปีที่นางอัญชลี ได้ขออำนาจศาลเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของนายชูชาติ และเข้ามาบริหารปางช้างแม่สานั้น นางอัญชลี ได้ระงับจ่ายเงินเดือนแก่นางฐิติรัตน์ เดือนละ 180,000 บาท รวมกว่า 4 ล้านบาทแล้วแต่ได้ใช้เงินนายชูชาติ ที่ฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพฯ จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อใช้บริหารจัดการปางช้างหมดภายใน 1 ปีเท่านั้น และยังขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มอีก 30 ล้านบาท รวมเป็น 50 ล้านบาทแล้วจึงสะท้อนว่าการบริหารจัดการปางช้างของนางอัญชลี ว่าเป็นอย่างไรถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้ ควรเปิดทางให้นางฐิติรัตน์ หรือคนที่มีศักยภาพมาบริหารจัดการแทน เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด ภายใต้สถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจซบเซาหรือไม่
“ที่ผ่านมา นางอัญชลี ได้มีหนังสือเชิญนางฐิติรัตน์ เข้าร่วมบริหารจัดการปางช้างแม่สา แต่เป็นการเชิญให้มาร่วมรับผิดชอบหนี้สินกว่า 30ล้านบาท ทั้งที่นางฐิติรัตน์ ไม่ได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการตั้งแต่ต้น ที่สำคัญยังไม่ได้จัดการเรื่องทรัพย์สินตามพินัยกรรม หากมีการจัดการทรัพย์สินตามพินัยกรรม ตามที่ศาลได้ไกล่เกลี่ยตั้งแต่ต้น คงไม่ยากยาวจนถึงวันนี้ อาจนำไปสู่การล่มสลายของปางช้างแม่สาในที่สุด”นายอัคคพาคย์ กล่าว
ส่วนการฟ้องร้องเรื่องพินัยกรรมมรดกนายชูชาติ และการบริหารจัดการปางช้างแม่สา รวม 14 คดี บางคดีได้ประนีประนอม-ไกล่เกลี่ยไปแล้วยังคงค้างคดีในศาล 4-5 คดีเท่านั้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า คดีดังกล่าวยังไม่จบง่าย ๆ เพราะมีการโพสต์โชเซียลมีเดีย พาดพิงว่านางฐิติรัตน์ เป็นเมียน้อยนายชูชาติ เป็นการหมิ่นประมาทและบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ที่ผ่านมานางอัญชลี เคยถูกศาลพิพากษาจำคุก1 ปี 6 เดือน ฐานฟ้องเท็จ ซึ่งศาลอุทธรณ์ ยืนตามคำพิพาำกษาศาลชั้นต้น หากยังฟ้องเท็จอีก อาจถูกศาลลงโทษจำคุกได้ โดยไม่ลงรออาญาอีก ทั้งนี้นางฐิติรัตน์ ได้ฟ้องนางอัญชลี ได้ยักยอกเงินบริษัทฯซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชาติ มีกิจการอยู่ 3 แห่ง ประกอบด้วย ปางช้างแม่สา น้ำแร่เอเล่ และรีสอร์ท รวมทรัพย์สินกว่า 1,000 ล้านบาทซึ่งเขียนพินัยกรรมที่มีผลทางกฎหมาย เมื่อกันยายน 2561 หรือ 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อแบ่งทรัพย์สินให้บุตร 4 คน นางฐิติรัตน์ และ น.ส.อภิสากัลมาพิจิตร ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม รวม 6 คน โดยพินัยกรรมดังกล่าวนั้นนางอัญชลี ได้รับมรดกเป็นงาช้างคู่เท่านั้น โดยไม่ได้รับทรัพยฺ์สินอื่นใดเลย จนนำไปสู่การขอตรวจพิสูจน์ศพ และพินัยกรรมของบิดา ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แต่ไม่ปรากฎสิ่งผิดปกติดังกล่าว จนกระทั่งนำไปสู่ฟ้องร้องคดีมากมาย ซึ่งนายอัคคพาคย์ ระบุว่า คดีดังกล่าว เป็นมหากาพย์ ที่ยังไม่จบง่าย ๆ อาจใช้เวลาพิจารณาอีก 3-5 ปี กว่าเรื่องยุติ
Discussion about this post