วันที่ 26 ตุลาคม นายเกียรติศักดิ์ นุชนงค์ นายกเทศมนตรีตำบล กม.5 ต.อ่าวน้อย อำเภอเมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบฯ สำนักงานทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ “ศูนย์รับนมประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งเปิดเป็นโรงงานรับซื้อน้ำนมดิบเลขที่ 46 หมู่ 7 ต.อ่าวน้อย ของ นายรัส หมื่นสุข หลังรับการร้องเรียนว่าโรงงานดังกล่าวมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองสาธารณะที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบน้ำในคลองเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 64 นายชาตรี จันทร์วีระชัย อดีตรองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ได้ลงตรวจสอบก่อนสั่งให้โรงงานดำเนินการแก้ไขโดยด่วน
สำหรับโรงงานดังกล่าวได้ขออนุญาตเทศบาลตำบล กม.5 ประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเล่มที่ 01เลขที่ 25/2563 สิ้นสุดวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และเล่มที่ 01 เลขที่ 26/2563 หมวดที่ 1 กิจการที่เกี่ยวกับสัตว์ ประเภท 2 การเลี้ยงสัตว์เพื่อรีดเอาน้ำนม ออกหนังสือให้เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 สิ้นสุดวันที่ 4พ.ย.64 โดยด้านหน้าเปิดเป็นโรงงานรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่และใกล้เคียง ด้านข้างโรงงานเปิดเป็นโกดังจำหน่ายอาหารสัตว์แปรรูปหลายชนิด นอกจากนี้ภายในโรงงานยังมีโรงเรือนเลี้ยงโคนมและลูกโคนมจำนวนมากส่งกลิ่นเหม็นตลอดเวลาจากมูลสัตว์ที่สะสมอยู่
สอบถามนายรัส เจ้าของโรงงานกล่าวว่า หากเป็นช่วงหน้าฝนหรือฤดูมรสุมที่มีฝนตกลงมาเป็นจำนวนมากน้ำในฟาร์มโคนมก็จะล้นลงไปในลำคลองสาธารณะทำให้ส่งกลิ่นเหม็นเนื่องจากบ่อพักมูลสัตว์ที่ตนเคยทำไว้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เนื่องจากมีขนาดไม่ใหญ่มากทำให้ต้องสูบออกไปทิ้งเดือนละครั้ง แต่ปัจจุบันรถสูบน้ำคันดังกล่าวเสียจึงไม่สามารถดำเนินการได้
ด้านนายเกียรติศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวได้รับการร้องเรียนมาโดยตลอดโดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียลงลำคลองสาธารณะที่มีชาวบ้านใช้ร่วมกัน ปัจจุบันตลอดทั้งลำคลองพบว่าน้ำไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์หรือภาคเกษตรเนื่องจากน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งจากมูลสัตว์ที่โรงงานรับซื้อน้ำนมดิบปล่อยทิ้งลงมา โดยขณะลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ายังมีการปล่อยน้ำเสียพร้อมมูลสัตว์ลงสู่ลำคลองสาธารณะตลอดเวลาจึงได้สั่งระงับการปล่อยน้ำเสียลงลำคลองก่อนทันที จากนั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พร้อมลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานให้ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากครบเวลาตรวจพบการกระทำความผิดตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535 อีกครั้งก็จะสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการต่อไป และได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เนื่องจากโรงงานดังกล่าวเคยได้รับการร้องเรียนมาแล้วแต่ก็มิได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น และยังก่อปัญหาให้กับชุมชนและเกษตรกรที่ใช้น้ำในลำคลองดังกล่าวมาโดยตลอด.
Discussion about this post