เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นางสาวอัญชลี อิสมันยี ผู้ประสานงานภาคี #SAVEบางกลอย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21-23 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนบ้านบางกลอยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของชาวบ้านบางกลอย(ล่าง)ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่าชาวบ้านป่วยจำนวน 33 คน โดยเป็นผู้ใหญ่ 18 คนและ เด็ก 15 คน ซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายกัน คือ เป็นไข้ อาเจียน ปวดท้อง วิงเวียน-ปวดหัว มีผื่นคัน ฯลฯ โดยจากการสอบถามพบหลายรายเป็นการป่วยเรื้อรังมานานกว่า 1 เดือน และบางรายติดโรคจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีจำนวนชาวบ้านที่ป่วยจากการเก็บข้อมูลครั้งก่อนหน้าอีกประมาณ 40 ราย ที่อาการยังทรงตัวไม่ดีขึ้นหรือหายขาด ทำให้ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยรวมกว่า 70 คน ทำให้ชาวบ้านมีความกังวลว่าอาจจะเป็นโรคติดต่อ จึงต้องการให้หน่วยงานสาธารณสุขเข้ามาตรวจรักษาชาวบ้านโดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยที่แท้จริง เพื่อให้ชาวบ้านได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง
“คนป่วยมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หลายคนป่วยจนหายแล้วก็ยังกลับมาป่วยอีก บางคนเชื่อว่าเป็นอาการสะสมจากภาวะขาดสารอาหารมายาวนาน หรืออาจเป็นผลกระทบจากความเครียดต่อปัญหาขัดแย้งกับอุทยานฯ บางคนกลัวว่าจะเป็นโรคติดต่อ เพราะอาการคล้ายมาเลเรียแต่ไม่ใช่ ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรแน่ ทำได้แต่กินยาสามัญประจำบ้านที่ได้รับแจก แต่ก็ไม่ดีขึ้น ก็ได้แต่นอนรักษากันเองอยู่ที่บ้าน” นางสาวอัญชลี กล่าว
นางสาวอัญชลี กล่าวต่อว่า ยังพบปัญหาอุปสรรคการเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม เนื่องจากปัจจุบันชุมชนบ้านบางกลอยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง อาจหลุดจากระบบสาธารณสุขขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ทำให้ชาวบ้านต้องข้ามไปฝั่งบ้านโป่งลึก เพื่อไปใช้บริการสุขศาลาที่ดูแลโดยหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) นอกจากนี้เวลาสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีลงพื้นที่หมู่บ้าน จะมาถึงแค่บ้านโป่งลึก ไม่ได้ข้ามไปเยี่ยมชาวบ้านในฝั่งบางกลอย อีกทั้งหลายครั้งที่ชาวบ้านถูกเลือกปฏิบัติและการถูกสื่อสรที่เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาแสดงถึงความอคติ ยิ่งเป็นการผลักชาวบ้านให้ออกห่างจากระบบสาธาณสุข และยังเป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน
“เจ้าหน้าที่สุขศาลาบางคนก็ดี บางคนพอไปขอยาก็ไม่ให้ พอจะลงไปหาหมอที่แก่งกระจานหรือไปจังหวัดก็ต้องไปขออนุญาตสุขศาลาก่อน การพาคนป่วยไปโรงพยาบาลต้องมีเงินจ้างรถเที่ยวละ 2,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายถ้าต้องนอนเฝ้าคนป่วย ลงมาแล้วจะได้รับการรักษาหรือไม่ และยังกลัวการตัดสินว่าความป่วยของชาวบ้านคือความผิดที่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม เพราะเจอการเลือกปฏิบัติมาโดยตลอด เช่น กรณีชาวบ้านคนหนึ่งวิ่งหนีงูเห่าจนล้มแล้วซี่โครงหัก แต่ไม่กล้าไปหาหมอ และกรณีผู้หญิงตั้งครรภ์ปวดท้องแต่สุขศาลาตรวจไม่พบ ต้องลงมาตรวจข้างล่างเองพบว่าครรภ์เป็นพิษ หรือกรณีของน้องผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาการปวดท้องจึงไปตรวจ เจ้าหน้าที่กลับพูดว่าเป็นเพราะมีเพศสัมพันธ์บ่อย แต่ตอนหลังตรวจเจอเป็นเนื้องอกในมดลูก ถูกแสดงท่าทีแบบนี้เรื่อยมาสะสม ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีแผลในใจไม่มีสิทธิ จะกล้าไปโรงพยาบาลต่อเมื่อป่วยใกล้ตายจริงๆ” นางสาวอัญชลี กล่าว
นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ชาวบ้านที่ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จึงแจ้งข้อมูลต่อสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีรับทราบแล้ว และมีการประสานกลับมาว่าใน 2-3 วัน จะส่งทีมเข้ามาตรวจอาการชาวบ้านในพื้นที่ ในระหว่างนี้พยายามให้ชาวบ้านข้ามไปฝั่งบ้านโป่งลึกเพื่อรับการตรวจรักษาที่สุขศาลาก่อน เบี้องต้นทราบว่ามีการเจาะเลือดพบว่าไม่มีเชื้อไข้มาลาเรีย ส่วนถ้าคนป่วยที่อาการหนัก สุขศาลามีรถให้บริการส่งตัวผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่บางครั้งถ้ารถไม่ว่างก็ต้องหารถไปเอง
“อาการป่วยของชาวบ้านคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ ปวดตามข้อกระดูก ไม่ใช่มาลาเรียเพราะเจาะเลือดก็ไม่พบเชื้อ บางคนถ่ายท้องก็ต้องกินยา นอนพักผ่อนก็จะดีขึ้น เรื่องโควิทที่หมู่บ้านตอนนี้ไม่มี วัคซีคได้ทยอยฉีดได้มากกว่า 100 คนแล้ว แต่มีบางคนที่ยังไม่ยอมฉีด เพราะกลัวผลข้างเคียง” นายนิรันดร์ กล่าวและว่าการป่วยครั้งนี้ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไรแน่ และไม่เคยป่วยกันมาก่อน
อนึ่งปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยล่างมีอยู่ราว 600 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็ก ทั้งนี้ชาวบ้านบางกลอยถูกอพยพจากป่าใหญ่ 2 ระลอก โดยครั้งเมื่อปี 2539 อุทยานฯแก่งกระจานชักชวนโดยบอกว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 7 ไร่ แต่กลับไม่ทำตามสัญญา จนชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายกลับไปอยู่ถิ่นเดิมในป่าใหญ่ และในครั้ง 2 เมื่อปี 2554 ภายหลังจากเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันในยุทธการตะนาวศรีซึ่งมีการเผายุ้งฉางและบ้านของชาวบ้านเพื่อกดดันให้ชาวบ้านออกจากป่าใหญ่ ทำให้ชาวบ้านบางกลอยทยอยเดินทางมาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในหมู่บ้านบางกลอยล่างโดยที่ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่มาโดยตลอด
Discussion about this post