ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดพัทลุง ว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันที่ 28 ต.ค.นี้ ที่ห้องประชุมอิรวดี ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมรังนก หลังจากที่กรรมาธิการปกครองสภาผู้แทนราษฎร จี้หลังได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มพิทักษ์ผลกระโยชน์พัทลุง กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐดูแลเกาะรังนกแต่เกิดขโมยหายเกลี้ยงและเรียกร้องให้ผู้ว่าออกมารับผิดชอบกับการเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงแต่ไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติและผลประโยชน์ของคนพัทลุงได้ โดยกรรมาธิการได้ลงสำรวจความเสียหายของเกาะรังนกเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 64 ที่ผ่านมา พร้อมสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เร่งรายงานผลความคืบหน้า โดยได้เรียกประชุม กรรมการรังนก ผู้บังคับการตำรวจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดจังหวัด และตัวแทนบริษัท ซึ่งในการประชุมวันนี้มีกรรมการรังนกมาร่วมประชุมเพียงไม่กี่คน
และในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้นายพิพัตร อมรวัตพงศ์ ตัวแทนบริษัทรังนกสยามเนส 2022 ได้ชี้แจงเหตุผลในการขอเลื่อนการจ่ายค่าอากรรังนก จำนวน 21,333,333 บาทออกไป หลังจากที่นายพิพัตร ชี้แจงเสร็จแล้วก็ให้ออกมาจากห้องประชุมเพื่อให้คณะกรรมรังนกได้ร่วมกันพิจารณาเรื้องดังกล่าวกันต่อไป ซึ่งในการประชุมในครั้งนี้ทางคณะกรรมการรังนกไม่ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมฟังการประชุมด้วยเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา
ทางด้านนายพิพัตร อมรวัตพงศ์ ตัวแทนบริษัท เผยว่า การที่ทางบริษัทเข้าประมูลรังนกในครั้งนี้ด้วยราคากลางมากถึง 400 ล้านบาทนั้น เนื่องจากทางบริษัทได้ทราบข้อมูลของปริมาณรังนกที่จะจัดเก็บได้ คาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บรังนกฯประมาณ 60-70 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะมีปริมาณรังนกทั้งชนิดขาว ชนิดดำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 แต่เมื่อไม่มีรังนกจะให้เก็บทางบริษัทจึงไม่มีเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นค่าอากรเป็นเงิน 21 ล้านบาทเศษได้ เรื่องที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นความบกพร่องของทางบริษัท มิใช่เป็นเรื่องที่บริษัททำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นจึงต้องมีคนรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว และจากการที่ทางบริษัทได้ชี้แจงเหตุผลการขอเลื่อนการจ่ายเงินอากรนั้นทางคณะกรรมการก็เห็นใจบริษัท และจะได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าพูดคุยในคณะกรรมการรังนกในวันนี้ ส่วนเรื่องจะเป็นอย่างไรก็ต้องติดตามกันต่อไป
นายพิพัตร กล่าวอีกว่า การขโมยรังนกในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับท้องถิ่นอย่างมหาศาล ซึ่งจากการเก็บรังนกในช่วงเดียวกันในระหว่างวันที่ 5 – 11 กันยายน 2563 ทางบริษัทสามารถจัดเก็บรังนกขาวได้ 812.39 กิโลกรัม เก็บรังนกดำได้ 1,263.50 กิโลกรัม แต่จากการจัดเก็บรังนกในช่วงที่ทางบริษัทเข้ามารับสัมปทานได้ในช่วงระหว่างวันที่ 11 – 17 กันยายน 2564 นั้น ทางบริษัทฯจัดเก็บรังนกขาวได้เพียง 34.79 กิโลกรัม และจัดเก็บรังนกดำได้เพียง 197.76 กิโลกรัมเท่านั้น โดยคิดเป็นเงินแล้วไม่เกิน 4 ล้านบาท ในขณะเดียวกันทางบริษัทยังต้องใช้เงินในการพัฒนาปรับปรุงด้านต่างๆบนเกาะรังนกอีกหลายล้านบาท จึงไม่มีเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินอากรฯดังกล่าวได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตามการประชุมของคณะกรรมการรังนกในวันนี้มีวาระการประชุมหลายวาระ อาทิ การขอคัดสำเนาสัญญาสัมปทานของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง แจ้งการตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ตามสัญญาสัมปทานรังนกของ สตง.พัทลุง การขี้แจงต่อกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร และการพิจารณาการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ การเข้าไปท่องเที่ยวในเขตพื้นที่สัมปทานรังนก ฯลฯ โดยในวันนี้(ที่ 28) ในที่ประชุมยังไม่นำเรื่องการขอเลื่อนการชำระค่าอากรรังนกฯของบริษัท จำนวน 21 ล้านบาทเศษ ภายใน 31 ต.ค. 64 ไปเป็น 31 ส.ค.69 แต่อย่างใด
ส่วนความคืบหน้าการติดตามคนร้ายขโมยรังนกหมู่เกาะสี่เกาะห้า พัทลุง ของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รอง ผบ.ตร. ที่ลงมาทำคดี ตั่งแต่วันที่ 22 กันยายน 64 จนถึงวันนี้ ได้ออกหมายจับคนร้ายที่ขโมยรังนกไปแล้ว 2 ครั้ง รวมผู้ต้องหา17 ราย ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ในชั้นปลายแถว ส่วนการออกหมายจับผู้บงการ ผู้อยู่เบื้องหลัง และ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่เอี่ยวกับการขโมยรังนก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ระดับสูงขึ้นไปยังไม่มีการสาวถึง
Discussion about this post