วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองและคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามผลการปรับปรุงโรงงานไทยเรยอน จังหวัดอ่างทอง พบการปล่อยสารเคมีไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยการลงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมแก้ไขปัญหาเดือดร้อนรำคาญจากสารเคมีของบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีอำนาจในการตรวจสอบและติดตามผลการแก้ไขปรับปรุงโรงงานและสรุปผลรายงานทุก 3 เดือน แต่เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ไม่สามารถจัดประชุมและตรวจติดตามเป็นคณะได้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทองจึงได้ชี้แจงคณะกรรมการฯ ว่า บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทองว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงขนาดถังกัมมันต์ของระบบ CS2 Recovery หรือระบบกรองก๊าซคาร์บอนไดซัลไฟต์ จากขนาด 19 ตัน เป็น 26 ตัน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชุมชนในบางพื้นที่
อย่างไรก็ดี บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการปรับปรุงโรงงานตามคำแนะนำของอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทองมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระดับความเข้มข้นของสารเคมีที่ปากปล่องจะอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด แต่ทางโรงงานก็มิได้นิ่งนอนใจที่จะควบคุมการปล่อยสารเคมีและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานอย่างเข้มงวด ทำให้คณะของผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และผู้ตรวจราชการมีความพึงพอใจในผลการดำเนินงานปรับปรุงแก้ไขของโรงงานในครั้งนี้
ด้านนายมูนิต กุมาร์ ราธิ ประธานบริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางบริษัทไม่เคยนิ่งนอนใจกับกลิ่นสารเคมี และได้ทำการปรับปรุงโรงงานไทยเรยอนอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี ใช้งบประมาณไปไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ทำให้ปริมาณกลิ่นสารเคมีลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ และอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนและสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวอ่างทอง
ขณะที่นางสาวอุไรวรรณ พูลเพชร อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 22 ม.2 ต.จำปาหล่อ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน กล่าวว่า ผลกระทบที่ได้รับคือเรื่องกลิ่นเหม็นที่มาทางบ้าน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวกลิ่นจะไปตามทิศทางลมจะมาทางบ้านเรา อีกทั้งที่บ้านเรายังมีผู้ป่วยติดเตียง ก็คือแม่ แม่ใคร ๆ ก็รักใช่มั้ย เราเพียงแค่อยากจะได้อากาศบริสุทธิ์อย่างคนอื่นเค้าบ้าง ถ้าถามว่าปัญหานี้ได้รับมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ตั้งแต่ก่อสร้างโรงงานมาแต่ตอนนั้นเราก็ยังเด็ก คืดเราสูดอากาศแบบนี้จนเกิดความชิน แต่ตอนนี้มันไม่ใช่ มันเหม็นขึ้นเรื่อย ๆ ถามว่าโรงงานได้มีการแก้ไขหรือไม่ เราก็เห็นว่าเค้าก็ปรับปรุงนะ แก้ไขกันมาเรื่อย ๆ แต่มันก็ยังมีกลิ่นอยู่ ที่ผ่านมาบ้านเราไม่เคยได้รับการช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไร เราเพียงต้องการให้เค้ามีการปรับปรุงให้ดี กลิ่นมันยังมีอยู่ ถามว่าโรงงานดีมั้ย บอกเลยว่าดี เค้ามาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้นอันนี้เรายอมรับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำให้คนอีกกลุ่มเดือดร้อนได้ ซึ่งมันไม่ยุติธรรมกับชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือเรื่องเดียว เรื่องกลิ่น ถ้าแก้ไขเรื่องนี้ให้เราได้ เราก็จะไม่มาเรียกร้องแบบนี้ เอาง่าย ๆ คือ เราก็อยากได้รับอากาศบริสุทธิ์เหมือนคนอื่นบ้างเท่านั้นเอง
หิรัญยวัต อธิวัฒน์เดชากร / อ่างทอง
Discussion about this post