เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาการผู้ว่าราชการ จ.เพชรบุรี พร้อมด้วยนายอำเภอแก่งกระจาน หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ลงเรือตรวจการณ์บริเวณจุดชาวประมงพื้นบ้านลงจับปลาบึกช่วงเทศกาลล่าปลึกบึก กลางเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า หลังจากเพชรบุรีมีการสร้างเขื่อนแก่งกระจาน ทางกรมชลประทาน และ กรมประมง ได้ร่วมกันสานนโยบายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ นอกจากใช้น้ำเขื่อนเพื่อการเกษตรแล้ว ยังได้ส่งเสริมด้านอาชีพประมงน้ำจืด โดยนำพันธุ์ปลาบึกจากจังหวัดเชียงรายมาปล่อยตั้งแต่ปี 2530 แล้วปล่อยให้เติบโตร่วมกับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ นำมาซึ่งรายได้ สร้างอาชีพให้คนในพื้นที่รอบเขื่อน นอกจากนั้นชุมชนยังได้บริหารจัดการดูแลรักษาทรัพยากร ภายใต้หลักความยั่งยืนยัน ที่จะทำให้สัตว์น้ำ คงอยู่กับพื้นที่แก่งกระจานตลอดไป โดยมีการจัดตั้งกลุ่มในชุมชนเพื่ออนุรักษ์ ด้วยวิธีการจับ 1 ตัว ต้องปล่อยคืนไป 50 ตัว ในขณะเดียวกันตัวที่จับได้ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนด้วย นอกจากช่วยสร้างความยั่งยืน ยังช่วยอนุรักษ์ปลาบึกไว้ในเขื่อนแก่งกระจานได้ในระยะยาวจนถึงลูกหลานจะได้มีอาชีพมีรายได้ต่อไป
นายเอกชัย เตชะวันโต หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน ได้แสดงความขอบคุณที่คณะผู้บริหารจังหวัดเพชรบุรีลงมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องชาวประมง และเปิดเผยว่า ทางกลุ่มพี่น้องชาวประมงได้ทำการประชาคมเพื่อกำหนดเงื่อนไขกฎกติกา ซึ่งปีนี้ได้เริ่มเทศกาลตั้งแต่ 15 พฤศจิกายน 2564 ถึง 15 มกราคม 2565 ภายใต้ข้อกำหนด ห้ามล่าปลาบึกเกิน 50 ตัว เมื่อครบ 50 ตัวก็จะปิดฤดูกาลล่าปลาบึก หรือระยะไหนถึงก่อน ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยปลาบึกที่จับขึ้นมาได้วันละ 10 ตัว ตัวนี้เป็นตัวที่ 33 โดยจะมีแพปลามารับซื้อประมูลราคาซื้อยกตัว ราคาปลาตายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ปลาเป็น 150 บาท ส่วนราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 200 บาท พร้อมกันนี้ทุกวันที่ 9 เมษายนของทุกปี ก็จะมีการทำบุญปลาบึก อุทิศกุศลให้ปลาบึกด้วย.
Discussion about this post