วันนี้ 20 พ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า/โฆษกศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด -19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลได้มีคำสั่งจัดตั้ง ศบค.ส่วนหน้า เพื่อบูรณาการกลไกเเก้ปัญหาให้เกิดความเป็นเอกภาพ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประสานสอดคล้อง ผลจากการดำเนินการตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมาสามารถรณรงค์ฉีดวัคซีน ในภาพรวมได้แล้วกว่าร้อยละ 60 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 ส่งผลให้สถานการณ์เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ โดยมีความคืบหน้าดังนี้ 1.ภาพรวมสถานการณ์และแนวโน้ม สถานการณ์ล่าสุดในการประชุม ศบค.ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 18 พ.ย.64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,241 ราย, ยอดติดเชื้อสะสม 193,976 ราย, รักษาหาย 166,623 ราย, เสียชีวิตสะสม 1,375 ราย เฉลี่ยร้อยละ 0.71 น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 0.28 (ร้อยละ0.99) โดยมียอดรวมผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงมาโดยลำดับ โดยพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุเกิน 60 ปี และไม่ฉีดวัคซีนกว่าร้อยละ 89 สำหรับผลการตรวจหาเชื้อเชิงรุกโดย ATK ในรอบ 7 วัน (11-17 พ.ย.64) พบผลเป็นบวกเฉลี่ยร้อยละ 12.5 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยน้อยกว่าในห้วงเดือนก่อนกว่าร้อยละ 10 สำหรับภาพรวมเตียงทุกประเภท (เว้น Ci และ Hi) มีอัตราการครองเตียงร้อยละ 65.12 (13,431/20,625 เตียง) คงเหลือเตียงว่าง 7,194 เตียง สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอเนื่องจากปัจจุบันพบว่ายอดผู้รักษาหายมีสัดส่วนมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ ประกอบกับ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการรักษาเข้าสู่ระบบศูนย์แยกกักตัวชุมชน (Ci) และรักษาที่บ้าน (Hi) มากขึ้นทำให้สามารถลดภาระการครองเตียงได้เป็นจำนวนมาก 2.ผลคืบหน้าการฉีดวัคซีน ภายหลังได้ใช้มาตรการเชิงรุกในการรณรงค์เข้าฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับการจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จเข้าตรวจหาเชื้อโควิด -19 โดย ATK, ฉีดวัคซีนและรักษาตามอาการทำให้สามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้แล้วร้อยละ 60.34 (2,357,472/3,906,893 คน) โดยจะเร่งทำการฉีดเพิ่มเติมอีก 397,377 คนประกอบด้วยยะลา 51,468 คนสตูล 53,066 คน, ปัตตานี 152,043 คน และนราธิวาส 161,858 คนเพื่อให้ บรรลุเป้าหมายร้อยละ 70 ตามที่ได้กำหนดไว้ ในขณะที่มียอดการฉีดในกลุ่มนักเรียนเฉลี่ยในภาพรวมร้อยละ 67.07 และพบว่าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 49.6 โดยจะเร่งรัดเข้ารณรงค์ และดำเนินการ ในกลุ่มโรงเรียนเอกชน และสถาบันการศึกษาปอเนาะซึ่งพบว่ามีอัตราการฉีดอยู่ในเกณฑ์ต่ำมากเพื่อรองรับการเปิดเรียนแบบ on site ต่อไป
3.มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการเพื่อรองรับการเปิดประเทศ
1) เร่งรัดฉีดวัคซีนทั้งรูปแบบ on site และ mobile unit ด้วยการใช้เวทีสภาสันติสุขตำบลภายใต้ การนำของกำนัน,ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้นำศาสนา, อสม. และชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนเข้ารณรงค์สร้างความเข้าใจ ให้เกิดความเชื่อมั่นในทุกครัวเรือนพร้อมจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจหาเชื้อโควิด – 19 โดย ATK, ฉีดวัคซีน และรักษาตามอาการถึงหมู่บ้าน/ชุมชน 2) ส่งเสริมการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดย ATK ทั้งแบบ professional used และ self used ด้วยการจัดชุดปฏิบัติการเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จ (CCRT) เข้าไปที่หมู่บ้าน/ชุมชน, ด่านตรวจ, สถานประกอบการ และสถานบริการสาธารณะต่างๆ รวมทั้งการออกมาตรการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึง ชุดตรวจ ATK และยาต้านไวรัสได้ง่ายและราคาถูก 3) นำมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) มาใช้อย่างเป็นระบบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม, บุคคลและผู้รับบริการ พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมตรวจสอบ และประเมินผลภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกันของกลไกฝ่ายปกครอง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายให้มีความพร้อมตามมาตรการ Covid Free Setting และสามารถเปิดประเทศได้ภายใน 16 ธ.ค.64
4) เตรียมความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลด้วยการปรับเพิ่มรูปแบบการรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการเข้าสู่ศูนย์แยกกักตัวชุมชน (ci) และรักษาตัวที่บ้าน (Hi) ให้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดแนวทางบริหารจัดการขยะติดเชื้อในพื้นที่อย่างเป็นระบบทั้งระบบการเก็บขน และระบบการกำจัดโดยใช้เตาเผาในพื้นที่หากเกินขีดความสามารถจะนำส่งเตาเผานอกเขตพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขยะติดเชื้อตกค้างในสถานพยาบาลต่างๆ 4. มาตรการอื่นๆ
1) การช่วยเหลือเยียวยาได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 รวม 17,086 ราย เป็นเงิน 25,516,285 บาท
2) การแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในสถานประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมงวดเดือน ก.ย.- พ.ย. 64 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง และผู้ประกันตน จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ประกันตนในระบบจ่ายเงินสมทบลดลง 10,721 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลงเป็น 9,629 ล้านบาท ส่งผลดีต่อผู้ประกันตน และนายจ้างมีสภาพคล่องในการใช้จ่าย และดำเนินกิจการต่อไปได้ผลจากการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 1 เดือนที่ผ่านสามารถขับเคลื่อนมาตรการ และแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบส่งผลเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในพื้นที่มาโดยลำดับ ทั้งนี้จะเร่งรัดขับเคลื่อนงานเชิงรุกในทุกมิติทั้งด้านการรณรงค์ฉีดวัคซีน และการปฏิบัติภายใต้มาตรการ Covid Free Setting อย่างได้ผลเพื่อรองรับการเปิดประเทศต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2565 ต่อไป.
Discussion about this post