
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดน่าน พลตรีกัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน นำคณะประกอบด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน นายประยรู รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมท้องถิ่น และดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประชุมการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพร้อมนายอำเภอทั้ง 15 อำเภอในจังหวัดน่าน ร่วมประชุมและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนและขยายผลการพัฒนาพื้นที่เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าน่านและความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งขยายผลการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงสู่หมู่บ้านและชุมชนของจังหวัดน่าน โดยได้น้อมนำเอาแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินการ โดยกำหนดให้เป็นนโยบายสำคัญของจังหวัดน่าน และขับเคลื่อนขยายผลให้บรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มประชาชนทั่วไป จำนวน 325 แปลง เนื้อที่ 612 ไร่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดน่านเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และสำนักงานจังหวัดน่านและอำเภอรับผิดชอบ 38 แปลง เนื้อที่กว่า 350 ไร่ กลุ่มเกษตรกร 12 แปลง เนื้อที่ 38 ไร่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่านรับผิดชอบ กลุ่มผู้พ้นโทษตามโครงการ โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง 3 แปลง เนื้อที่ 7 ไร่ เรือนจำจังหวัดน่านรับผิดชอบ และกลุ่มนักเรียนและเยาวชน 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม รับผิดชอบ รวมพื้นที่เป้าหมาย 379 แปลง เนื้อที่กว่า 1,011 ไร่ ใน 20 หมู่บ้าน ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดน่าน ซึ่งในอนาคตหากมีการต่อยอดและขยายผลการดำเนินโครงการในพื้นที่อื่นๆ ก็จะส่งผลให้พื้นที่ป่าของจังหวัดน่านกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำที่สามารถส่งต่อความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ให้กับประชาชนในเขตภาคเหนือและตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำหรับความคืบหน้าโครงการขณะนี้ได้ดำเนินโครงการแล้วทุกแห่ง ปัญหาอุปสรรคที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องของพื้นที่ที่ดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ สปก.และได้แก้ไขแล้ว ทั้งนี้ประธานในที่ประชุมได้ขอให้ไปเชิญชวนประชาชนร่วมโครงการ เพื่อน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ และโคก หนอง นา โมเดล มาใช้อย่างต่อเนื่อง และวางแผนขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ แก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ขอให้เกษตรจังหวัดจัดอบรมจิตอาสา เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่ต่อไป
ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
Discussion about this post