
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 นายแพทย์โกศล วราอัศวปติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ พร้อมด้วย ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : ทีม MCATT) เข้าร่วมประชุมเตรียมความพร้อมและลงพื้นที่สำรวจความลังเลในการฉีดวัคซีนและสนทนาสร้างแรงจูงใจสำหรับกลุ่มประชาชนที่มีความลังเลใจในการรับวัคซีน (Vaccine Hesitancy) ให้เกิดความเชื่อมั่นและยอมเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยได้ร่วมกับ นางสิริพร พุทธิพรโอภาส ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 อุดรธานี พร้อมด้วยเครือข่ายสุขภาพจิตจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขอำเภอธาตุพนม และเจ้าหน้าที่ อสม. ร่วมลงพื้นที่ ณ ตำบลอุ่มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
โดยเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของจังหวัดนครพนม ที่มุ่งเน้นรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเพื่อเตรียมเปิด “นครพนม sandbox” รวมทั้งนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ขึ้นไป ให้บรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดส เพื่อให้สามารถรองรับการเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัยต่อไป

โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ยึดหลัก 3As: Ask Affirm Advice ได้แก่ 1. Ask (ถามเป็น) ใช้คำถามปลายเปิดว่ารู้สึกกังวลหรือเป็นห่วงเรื่องอะไร 2. Affirm (ชมเป็น) นำคำตอบมาชื่นชม เช่น การเป็นห่วงสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ดี และ 3. Advice (แนะเป็น) คือการให้คำแนะนำตรงกับสิ่งที่เป็นห่วง เช่น กลัวอาการข้างเคียงรุนแรง ก็แนะว่ามีการดูแลอย่างดีหลังฉีด และผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่พบว่ามีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ยังได้มีการแนะนำเครื่องในการค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิตด้วยโปรแกรม Mental Health Check-In ผ่านทางเว็บไซต์ www.วัดใจ.com และสำหรับผู้ที่มีความกังวลสามารถโทรปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 (โทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง).
Discussion about this post