เมื่อวันที่ 29 พ.ย. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของ ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และภาคประมง ประจำปี 2565 ที่ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี โดยมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายและย้ำจุดยืนของรัฐบาลในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์กับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องร่วมกันทำงานหนัก จริงจังและต่อเนื่องกว่าที่เป็นอยู่ มุ่งความยั่งยืน โดยยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เพื่อเร่งค้นหาให้การช่วยเหลือเหยื่อที่ตกค้างออกมาคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนโดยเร็ว โดยเฉพาะเด็กและสตรี ที่ถูกกักขัง หน่วงเหนี่ยว และถูกบังคับข่มขืนทรมานจิตใจ ที่ผ่านมา การปราบปราม จับกุมคดีค้ามนุษย์ มีความพยายามลดลงอย่างชัดเจนต่อเนื่อง ขณะที่ยังพบรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบออนไลน์มากขึ้น การคัดแยกเพื่อค้นหาผู้เสียหายบังคับใช้แรงงานหรือการบริการยังไม่ได้มาตรฐาน และยังพบปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยทั้งพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ชั้นในที่ทุกหน่วยงานต้องเข้มรับผิดชอบกำกับดูแลมากขึ้น
นอกจากนั้นยังได้กำชับ ขอให้ร่วมกันถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะสำนวนคดี เพื่อนำมากำหนดหลักการ ขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติร่วมกันให้ชัดเจน ในการขับเคลื่อนป้องกัน บังคับใช้กฎหมายและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ขอให้ ตร. และกระทรวงแรงงานเร่งจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนามาตรฐานและระบบงาน ให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล โดยตั้งเป้าหมายเลื่อนระดับเป็น Tier 2 ให้ได้ในปี 2565 และขอให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ร่วมกัน
ทั้งนี้จากที่ทางประเทศสหรัฐอเมริกาลดอันดับการค้ามนุษย์ไทยมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List จากเดิมอยู่ที่ Tier 2 ตามรายงาน TIP Report 2021 เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯมองว่าทางการไทยไม่ได้พยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ โดยเฉพาะวิธีการที่ทางการไทยใช้กับแรงงานต่างด้าวในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอกย้ำปัญหาสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งปัญหาเดิมที่ยังปรากฏทั้งการทำงานเกินเวลาที่กำหนด การใช้แรงงานเด็กและความเป็นอยู่ที่แออัด ซึ่งในครั้งนี้ประเทศอาเซียนที่อยู่ในระดับเดียวกับไทยประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา และเวียดนาม การที่ไทยถูกลดอันดับมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List เป็นระดับต่ำสุดของการจัดอันดับ แม้ว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ถ้าหากไม่เร่งแก้ไขในประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งภายใน 2 ปี มีความเสี่ยงที่ไทยจะถูกลดไปอยู่ในลำดับต่ำสุดที่ Tier 3 ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจไทย.
Discussion about this post