วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมศรีโคตรบูรณ์ ชั้น 5 โรงพยาบาลนครพนม จังหวัดนครพนม พระเทพวรมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในการร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน วัดรอบรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาศักยภาพพระสงฆ์ให้มีความรู้ความสามารถ สู่การเป็น Health literacy ที่มีทักษะในการเข้าถึงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ ประเมินการปฏิบัติกิจของสงฆ์และจัดการตนเอง รวมทั้งสามารถชี้แนะเรื่องสุขภาพส่วนบุคคลให้กับพุทธศาสนิกชนในชุมชนได้มีสุขภาพที่ดี ร่วมกันจัดทำโครงการของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น และต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาวะอนามัยของพระสงฆ์ ภายใต้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ สร้างสิทธิ์การเข้าถึง รู้เท่าทัน และการแก้ไขปัญหาสุขภาพในพระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี ตลอดจนพุทธศาสนิกชนในยุคโควิด
โดยสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าในแต่ละปีมีพระสงฆ์มากกว่าแสนรายที่มีอาการอาพาธเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ ทั้งพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือนำมาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระสงฆ์ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย และจากการตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ สามเณรทั่วประเทศ ระหว่างปี 2559-2564 มีแนวโน้มในการอาพาธเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบ และโรคไตวายเรื้อรัง ดังนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้นำร่องจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธขึ้นในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 5 แห่ง ในปี 2563
และในปี 2564 เปิดเพิ่มอีกจำนวน 32 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิการบริการในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านการรักษาเมื่อเจ็บป่วย และเสริมสร้างสุขภาพป้องกันโรคไม่ให้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ รวมถึงสิทธิด้านอื่น ๆ ที่พึงได้รับ และด้วยการดำเนินงานประสบผลสำเร็จก่อให้เกิดระบบบริการไร้รอยต่อยกเว้นใบ Refer ใน 7 จังหวัดอีสานตอนบน กลายเป็นนวัตกรรมแห่งแรกของประเทศ ที่มีการขยายผลและพัฒนาระบบให้กับประชาชนทั่วไปได้ใช้บริการ
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดพระนักสื่อสารหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ ที่พร้อมให้ความรู้ด้านสุขภาพและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแก่พุทธศาสนิกชน จำนวน 663 รูป และเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพวิถีพุทธของจังหวัดนครพนม สู่การเป็น Health literacy ทำให้ทุกคนที่มีสุขภาพที่ดีจึงได้มีการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้.
Discussion about this post