สืบเนื่องจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเรื่องร้องเรียน กรณีขอให้ตรวจสอบว่ามีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส.3) ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 10 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 365 ไร่
ล่าสุด วันที่ 2 ธ.ค. นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ มอบหมายให้ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พร้อม นายพิเชษฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ นายเทวา จุฬารี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 7 และ เจ้าหน้าที่ส่วนแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ กองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นายมเหสักข์ กล่าวว่า จากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณ ต.หนองกะปุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ว่ามีการออกเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย หรือที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม หรือไม่ โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับแบบความละเอียดถูกต้องทางตำแหน่งสูง บินสำรวจและจัดทำแผนที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบพื้นที่ที่มีการออกเอกสารสิทธิในเขตป่าสงวนฯ เนื้อที่ประมาณ 365 ไร่ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม และตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง ไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์
นายมเหสักข์ กล่าวอีกว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงแจ้งจังหวัดเพชรบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของ จ.เพชรบุรี และข้อมูลการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวของกรมป่าไม้ โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 สาขาเพชรบุรี ที่ได้ตรวจสอบพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่ายางหัก-เขาปุ้ม บริเวณป่าบ้านโป่งสลอด หมู่ที่ 6 ต.หนองกะปุ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษจะทำการสืบสวน และเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และมีชื่อครอบครองที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ให้แสดงหลักฐานการถือครอง ซึ่งหากการสืบสวนทำให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในที่ดินทั้ง 10 แปลง เป็นการออกโดยอาศัยแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของที่ดินแปลงอื่น คณะพนักงานสืบสวนจะเสนอความเห็นต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อส่งเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปกรมที่ดินเพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว
“ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินและกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศพระราชบัญญัติการสอบสวนพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและประมวลเรื่องเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาว่ามีเหตุและมีเงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ต่อไป”
นายมเหสักข์ กล่าวเสริมว่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นไปตามภารกิจของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และนโยบายของผู้บริหาร เน้นให้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยยึดหลักความถูกต้องในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่มีการนำไปยึดถือครอบครองเป็นของส่วนตัว และเพื่อเป็นการปกป้องดูแลทรัพยากรป่าไม้และที่ดินอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศร่วมกัน.
Discussion about this post