เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายสนั่นพงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสพร้อมด้วยและคณะลงพื้นที่สำรวจหินภูเขาไฟที่ลอยเกลื่อนบริเวณชายหาดบ้านทอน สืบเนื่องจากนางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างได้ลงพื้นที่สำรวจชายหาด กรณีได้รับแจ้งข่าวพบตะกอนหินถูกคลื่นซัดขึ้นมากองตลอดแนวชายหาด จากการตรวจสอบพบว่าเป็นหินขนาดเล็ก มีรูพรุนชัดเจน น้ำหนักเบา สีเทาปนเขียว ขนาดอนุภาคตะกอนประมาณ 0.3 – 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายหินพัมมิช (Pumice) หรือที่เรียกว่าหินภูเขาไฟ เป็นหินประเภท หินอัคนีพุ มีลักษณะเนื้อเป็นฟองและเบา ซึ่งเกิดจากการเย็นตัวของหินหลอมเหลว และแร่ธาตุต่างๆ ใต้พื้นโลก
โดยพบกระจายทั่วไปตลอดแนวชายหาดจังหวัดสงขลา พบมากในพื้นที่ 8 ตำบลชายฝั่งทะเลของอำเภอสทิงพระ ได้แก่ วัดจันทร์ บ่อแดง บ่อดาน จะทิ้งพระ กระดังงา สนามชัย ดีหลวง และชุมพล รวมถึงจากการได้รับรายงานในพื้นที่อื่นๆ เช่น ชายหาดบ้านทอน (นราธิวาส) ปะนาเระ (ปัตตานี) และหัวไทร (นครศรีธรรมราช) นอกจากนี้ยังพบหินประเภทเดียวกันนี้ลอยเกลื่อนเป็นแพตามผิวหน้าน้ำทะเล จากการสอบถามชาวบ้านยังไม่มีข้อมูลผลกระทบต่อสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าว.
Discussion about this post