เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ณ บริเวณหน้าแขวงทางหลวงน่าน ที่ 1 ตำบลดู่ใต้อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน จังหวัดน่าน ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สำนักงานขนส่งจังหวัดน่าน ตำรวจภูธรเมืองน่าน แขวงทางหลวงน่าน ที่ 1 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารภัยจังหวัดน่าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลดู่ใต้ ดำเนินกิจกรรม “ตรวจจับควันดำจากยานพาหนะ” ในพื้นที่จังหวัดน่าน ภายใต้โครงการ “น่านเข้ม ลดควันดำ ลด PM2.5” เพื่อบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยระบายค่าควันดำเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้ใช้รถบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยมี วิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นาย วิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่าน เป็นจังหวัดที่มีเหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ แต่ช่วงระยะนี้ พื้นที่จังหวัดน่านมักประสบปัญหามลพิษจากหมอกควัน ซึ่งมีสาเหตุจากการเผาพื้นที่ป่า พื้นที่การเกษตร วัชพืชริมทาง เผาขยะมูลฝอยในชุมซน และควันพิษจากยานพาหนะ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน ตลอดจนบดบังทัศนวิสัย และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม ภาคการจราจรและขนส่ง จังหวัดน่าน จึงได้นำร่องการเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และควบคุมมลพิษทางอากาศ โดยดำเนินการตรวจสอบวัดค่าควันดำในยานพาหนะ ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมานกำหนด เพื่อลด ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็น 2.5 ไมครอน
นายระพีศักดิ์ มาลัยรุ่งสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) เปิดเผยว่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมควบคุมมลพิษ ให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1-16 ทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือกับจังหวัดตรวจวัดควันดำที่ระบายออกจากท่อไอเสียของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับรถยนต์ที่มีค่าควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้นำไปสู่การควบคุมป้องกันมลพิษ ทั้งนี้ หากตรวจพบรถยนต์ที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานกำหนด รถยนต์คันดังกล่าวจะถูกติดสติกเกอร์ “ห้ามใช้รถชั่วคราว” และให้เจ้าของรถนำรถเข้ารับการซ่อมแซม ดูแล แก้ไข และบำรุงรักษาเครื่องยนต์ พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่จะทำการบันทึกหมายเลขทะเบียนลงในระบบ เพื่อแจ้งไปยังนายทะเบียนของกรมขนส่งทางบกพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
Discussion about this post