นาก เป็นตัวชีวัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ในพื้นที่นั้นๆ หากพบว่ามีนากออกมาหากิน ถือว่าระบบนิเวศมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ มีปลา น้ำ สมบูรณ์ ทำให้นากมาปักหลักอยู่อาศัย การศึกษาวิจัยนากในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนล่าง ป็นการศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับแหล่งที่อยู่อาศัยของนาก ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาก รวมถึงการหาแนวทางในจัดการทรัพยากรป่าชุ่มน้ำที่สัมพันธ์กับแหล่งอาศัยของนาก และการศึกษาสายพันธุ์และวิวัฒนาการ
การร่วมมือกับนักวิชาการกับทางห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกลาธนบุรี โดยมีผู้เชี่ยวชาญสัตว์ป่าในด้านการตั้งกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ และเก็บตัวอย่างมูลนาก เพื่อการตรวจวิเคราะห์ทางพันธุ์กรรม การระบุชนิดพันธ์โดยใช้ระยะเวลาการศึกษา 2 ปี ในปีพ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นปีแรก ประสานกับชุมชนในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย 10 ชุมชน เพื่อค้นหานักวิจัยชุมชน ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับนาก และในปีที่ 2 ได้ทำการตั้งกล้องดักถ่ายและเก็บมูลนากให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด หาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของนากร่วมกับชุมชน และเพื่อติดตามการเคลื่อนย้ายของนากในรอบ 1 ปี ร่วมกับชุมชน 10 ชุมชนได้แก่ บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน บ้านม่วงชุม ตำบลครึ่ง บ้านบุญเรืองใต้ ตำบลบุญเรือง บ้านห้วยซ้อ บ้านร้องหัวฝาย ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ บ้านน้ำแพร่ บ้านงามเมือง บ้านป่าบงน้ำล้อม บ้านห้วยสัก ตำบลยางฮอม บ้านป่าข่า ตำบลป่าตาล อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ พบนากใหญ่ธรรมดา หรือนากยุโรป (Lutralutra)กระจายตัวอยู่ทั่วลุ่มน้ำอิงตอนปลาย นากใหญ่ธรรมดา เป็น 1 ใน 4 ชนิด ที่พบในประเทศไทย สัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2535 และการตรวจมูลหาเพื่อหาสายพันธุ์อีก 1 ตัวอย่าง มีความใกล้เคียงกับนากใหญ่ขนเรียบ(Smoot-coated Otter) ที่ผลตรวจทางพันธุ์กรรมมีความใกล้เคียงกัน แต่ยังไม่ยืนยัน อาจเกิดจากความผิดพลาดระหว่างการเก็บมูลหรือมูลที่เก่าแห้งเกินไป ต้องหาตัวอย่างตรวจซ้ำเพื่อยืนยันอีกที
ในการสำรวจนากน้ำในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย เป็นการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมหรืองานวิจัยชาว โดยมีตัวแทนจากชุมชนเป้าหมาย 10 ชุมชน เข้าร่วมอบรมกระบวนการทำวิจัย แนวทางการสำรวจศึกษา การสัมภาษณ์ การจัดสนทนากลุ่ม เทคนิควิธีการเก็บมูล การติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพนาก( Camera Trap ) จากนักวิชาการจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกลาธนบุรี การตั้งกล้องจากการคิดคำนวณพื้นที่และปริมาณจุดตั้งกล้อง ใช้ระยะเวลาตั้งกล้อง 30 วัน ตรวจสอบข้อมูลกล้อง 15 วันครั้ง เพื่อบันทึกภาพถ่าย วีดีโอ เพื่อนำมาใช้ประมวล
นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชฌามรรค ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้านนาก ลุ่มน้ำอิงตอนปลายได้เล่าว่า“ชาวบ้านในลุ่มน้ำอิง เรียกนากว่า “บ้วน” มีการพบนากกระจายตัวอยู่ในน้ำอิงใกล้กับป่าชุ่มน้ำและเขตอนุรักษ์ของชุมชน นากเป็นผู้ล่าบนสุดของห่วงโซ่อาหาร การพบเจอตัวนากเป็นเรื่องที่ยากมา เพราะนากจะออกหากินในตอนกลางคืน มีความฉลาดและรวดเร็ว และนากก็ถูกคุกคามจากการล่าเพื่อนเป็นอาหารของพรานในพื้นที่ ผมเป็นหนึ่งในนักวิจัยชุมชน ที่ผ่านมากการทำวิจัย ได้รับการอบรมฝึกเทคนิคการเก็บข้อมูลจากนักวิชาการ ก่อนทำการสำรวจ ในปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมาได้ติดตั้งกล้องในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำบุญเรือง ป่าม่วงชุม และป่าชุ่มน้ำงามเมือง และในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2565) ได้ทำการติดตั้งกล้องเสร็จ 2 ชุมชนคือ ที่ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าข่า บ้านป่าบงน้ำล้อม เหลืออีก 7 ชุมชน ภาพที่บันทึกได้ มีนากใหญ่ธรรมดา ผลจากการดักถ่ายทำให้ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำไว้ กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก และจะเป็นหลักฐานทางข้อมูลที่จะนำไปประกอบการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ แรมซ่าไซด์ ป่าชุ่มน้ำบุญเรืองใต้มีพื้นที่1,473 ไร่ เป็น 1 ใน 7 พื้นที่ป่า ที่กำลังขอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ”
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า แม่น้ำอิงตอนปลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของนาก แม่น้ำอิงมีความยาวประมาณ 260 กิโลเมตร มีต้นน้ำจากจังหวัดพะเยา ไหลผ่านจังหวัดเชียงรายมาบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านปากอิงใต้ หมู่ 16 ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย แม่น้ำอิงแบ่งตามลักษณะทางกายภาพเป็นสามตอน แม่น้ำอิงตอนบนเริ่มจากป่าต้นน้ำหนองเล็งทรายถึงท้ายกว๊านพะเยา แม่น้ำอิงตอนกลางเริ่มจากท้ายกว๊านพะเยามาจนถึงอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย และแม่น้ำอิงตอนปลายเริ่มจากอำเภอเทิง ไปบรรจบแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ ที่เป็นลักษณะเฉพาะทางกายภาพ ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของแม่น้ำโขง จากการสำรวจของสมาคมฯในปีพ.ศ. 2558 พบเขตอนุรักษ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย 19 แห่ง มีป่าชุ่มน้ำหรือป่าริมแม่น้ำอิง wetland เป็นป่านอกนิยาม มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน ปัจจุบันเหลือเพียง 26 แห่ง พื้นที่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอ ขณะนี้ทางสมาคมฯ ร่วมกับชุมชนกำลังเสนอขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำสู่แรมซ่าไซด์ 7 แห่ง อยู่ในขั้นตอนของการกรอกข้อมูล Information sheet ป่าชุ่มน้ำมีความสำคัญต่อชุมชนเป็นแหล่งรับน้ำในฤดูน้ำหลาก เป็นแห่งอาหารและแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนในฤดูแล้ง และที่สำคัญป่าชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า แต่พื้นที่ป่าชุ่มน้ำกำลังลดจำนวนลงอย่างมากในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมานี้
“ป่าชุ่มน้ำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ป่าฮิมอิง”เป็นป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศน์ที่เชื่อมอยู่กับทั้งแม่น้ำโขงและป่าบก ทำให้ป่าชุ่มน้ำมีระบบนิเวศน์แบบป่าบกและป่าชุ่มน้ำ การที่น้ำท่วมขัวในช่วงฤดูฝน ความสูงต่ำของน้ำที่ท่วมขังมีผลต่อการความลึก ระยะเวลาการท่วมขังของน้ำเป็นตัวกำหนดการพบชนิดพันธุ์พืชลักษณะเฉพาะในแต่ละจุด ทำให้เกิดระบบนิเวศน์ย่อย ชาวบ้านเรียกระบบนิเวศน์ย่อยเหล่านี้ตามพืชหลักที่พบ เช่น ป่าข่อย ป่าชมแสง ป่าไผ่ เป็นต้น จาการสำรวจพันธุ์ไม้ในป่าชุ่มน้ำบุญเรืองใต้พบพันธุ์ไม้ รวมถึงพืชอาหารและพืชสมุนไพรรวม 116 ชนิด และป่าชุ่มน้ำยังมีความสำคัญในการเก็บกักคาร์บอนเหนือดิน จากการสำรวจป่าชุ่มน้ำ 13 ชุมชน พื้นที่ 7,136 ไร่ ของทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 16.25 ตันต่อไร่ และพื้นที่ชุ่มน้ำยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญต่อชุมชน รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์สัตว์น้ำ พบปลาจำนวน 108 ชนิด ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ของพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย ประกอบกับการอนุรักษ์ป่าชุ่มน้ำของชุมชน 26 แห่ง เขตอนุรักษ์พันธ์ปลาจำนวน 19 แห่ง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนาก จากการตั้งกล้องดักถ่ายนาก ยังพบสัตว์ที่อยู่ในป่าชุ่มน้ำและริมฝั่งแม่น้ำอิงอยู่ร่วมกับนากอีกหลายชนิดได้แก่ แมวดาว(Leopard Cat) ชะมดหางปล้อง (Viverra zibetha) อีเห็น(Asian palm civet) กระต่ายป่า ไก่ป่า รวมถึง นกชนิดต่างๆ ” นยกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าว
จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ ในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำและแม่น้ำอิงในพื้นที่ 10 ชุมชน 21 จุด พบนากใหญ่ธรรมดาหรือนากยุโรป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lutralutra ตัวโตเต็มที่นักประมาณ 3-5 กิโลกรัม ลำตัวมีความยาวประมาณ 55-72 เซนติเมตร หางยาว 37-48 เซนติเมตร ลำตัวเพรียวยาวหัวแบนและกว้าง หูกลมขาสั้นหยาบมีสีน้ำตาลอ่อน คางแก้มและคอจะมีสีอ่อนกว่า มีหนวดไว้ทำหน้าที่รับรู้แรงสั่นสะเทือน นากใหญ่ธรรมดาที่พบในลุ่มน้ำอิงเป็น 1ใน 4 ชนิดของนากที่พบในประเทศไทย อีก 3 ชนิดคือ นากใหญ่ขนเรียบ(Smooth-coated Otter) นากเล็บสั้น(Asian small-ciawed Otter) และนากจมูกขน(Hairy-nosed)
จากรายงานวิเคราะห์ทางพันธุ์กรรมและวิวัฒนาการสายพันธุ์นากลุ่มน้ำอิงตอนปลาย (Example of Summary report of species identification and evolutionary history of Lutrinae from Ing River,Chiang Rai)ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ ห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกลาธนบุรี การศึกษาใช้เทคนิคทางชีวโมเลกุล(Molecular technicques)ในการจำแนกชนิดพันธุ์ และประเมินการกระจายตัวในระดับประเทศและภูมิภาค ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยได้ใช้เทคนิค DNA barcoding เพื่อระบุชนิดพันธุ์นากน้ำอิงจาก 7 ตัวอย่าง ประกอบด้วยมูล 5 ตัวอย่าง และชิ้นเนื้อผิวหนัง 2 ตัวอย่าง ผลการวิจับพบว่าจากผลตรวจมูล 5 ตัวอย่างนั้นเป็นนากใหญ่ธรรมดา และอีก 1 ตัวอย่างมีความใกล้เคียงกับนากใหญ่ขนเรียบ ผลตัวอย่าง LLTH 08 มีสายวิวัฒนาการมาจากดอยภูปคา คณะวิจัยพบลักษณะทางวิวัฒนาการสายแม่ 1 haplotype ซึ่งแตกต่างจาก haplotype ที่พบในประชากรในเขตอนุรักษ์ความหลายหลายนากาย-น้ำเทิน ประเทศลาว 1 nucleotide ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการที่ใกล้เคียงกันมากระหว่างประชาการนากใหญ่ธรรมดาในภาคเหนือของไทยและลาวนั้น บ่งบอกว่าประชากรในอดีต สองร้อยปีขึ้นไป เคยมีการอพยพเคลื่อนย้ายสูง ทำให้ปัจจุบันทำให้พันธุกรรมสายแม่แตกต่างกันไป และอีก 1 ตัวอย่างพบลักษณะทางพันธุกรรมมีลักษณะใกล้เคียงกับนากใหญ่ขนเรียบ แต่ยังไม่ได้ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์อาจจะเกิดความผิดพลาดจากมูลที่เก่าหรือระหว่างการเก็บรักษา จึงต้องหามูลเพื่อตรวจหาความชัดเจนอีกครั้ง
นายไกรทอง เหง้าน้อย เจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาก และแนวทางการการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของนากในพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับนาก มีความขัดแย้งกันบ้าง ด้วยการที่นากที่แอบกินปลาและทำลายเครื่องมือหาปลาของชาวประมง แต่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งในระดับรุนแรง แต่ในทางกลับกันนากกลับถูกล่าจากนายพราน เพราะมีความเชื่อเครื่องรางว่าหนวดนากทำให้หาปลาได้ง่าย เนื้ออวัยวะเป็นยาบำรุงร่างกาย แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักในการรับประทานเนื้อนาก และนากก็เป็นสัตว์ที่ฉลาดค่อนข้างพบตัวได้ยากมาก แม่น้ำอิงมีนากกระจายอยู่ทุกจุดในตอนล่าง เกิดจากปัจจัยสำคัญคือระบบนิเวศแถบนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์จากการที่ชุมชนมีการทำเขตอนุรักษ์พันธ์ปลา 19 จุด และมีป่าชุ่มน้ำ 26 แปลง กระจายตลอดแม่น้ำอิงตอนล่าง และการที่มีระบบนิเวศน์พื้นที่ชุ่มน้ำที่เชื่อมต่อทั้งแม่น้ำโขงและภูเขา
ดร.วัลลภ ชุติพงศ์ นักวิจัยด้านสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ชี้ชัดว่า การพบนากเป็นตัวชี้วัดว่าพื้นที่แถบนี้ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เพราะนากเป็นผู้ล่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งแสดงว่าอาหารนากยังอุดมสมบูรณ์และเพียงพอทำให้ประชากรนากอยู่มาได้ยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน และตอนนี้ทางสมาคมร่วมกับชุมชนเป้าหมาย 10 ชุมชน ได้มีข้อเสนอ การสร้างพื้นที่ความปลอดภัยให้นากโดยชุมชนเข้ามาอยู่แล อยู่กับนากโดยไม่ขัดแย้งกัน จึงได้ต้องกองทุนบ้านนากลุ่มน้ำอิงตอนล่าง มี 10 ชุมชนที่ทำวิจัย มาเป็นคณะกรรมการกองทุน มีโครงสร้างการทำงาน เพื่อทำกิจกรรมการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์นากและสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำอิงตอนล่าง สนับสนุนชุมชนดูแลที่อยู่อาศัยและแหล่งหาอาหารของนาก ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนกับนาก สนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอิงตอนปลาย และได้เปิดตัว กองทุนบ้านนากลุ่มน้ำอิงตอนล่างในวันที่ 16 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์นากโดยชุมชนรักษ์นากโดยชุมชน
Discussion about this post