.
วันนี้ (25 เม.ย.65) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาเปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดและการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยมหิดล
.
นพ.ประสิทธิ์ เปิดเผยว่า สายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ยังครองโลกของเราในขณะนี้ คือ “สายพันธุ์โอมิครอน” เป็นหลัก รองลงมา คือ “สายพันธุ์เดลต้า” ซึ่งมีหลงเหลือเพียงเล็กน้อยเพียงเท่านั้น ข้อมูล 2 วันที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อถึง 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แบ่งการระบาดของทั่วโลกออกเป็น 6 ทวีป พบว่า “ทวีปยุโรป” เป็นทวีปที่มีการแพร่ระบาดสูงที่สุด รองลงมา คือ “แอฟริกา” และ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
.
ในส่วนของยุโรปนั้น ในขณะนี้ถือว่าเลยจุดการแพร่ระบาดสูงสุดไปแล้ว สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน เช่นเดียวกับทวีปอเมริกา ที่มีอัตราการแพร่ระบาดลดลงอย่างรวดเร็ว
.
ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น การระบาดอยู่ในช่วงขาลงเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากสรุปในขณะนี้ พบว่าการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก มีแนวโน้มที่อยู่ในช่วงขาลง หลายๆ พื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
.
แต่สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ยังคงมีสายพันธุ์ย่อยออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังคงต้องติดตามในส่วนของสายพันธุ์ย่อยที่ออกมา เช่น สายพันธุ์เอ็กซ์อี (XE) ที่มีความรวดเร็วในการแพร่กระจายมากกว่าเดิมร้อยละ 10 แต่จะไม่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
.
“สิ่งที่จะย้ำคือ มาตรการวัคซีนมีความสำคัญ แต่อาจไม่พอ หากใช้วัคซีนอย่างเดียว ต้องมีมาตรการอย่างอื่นด้วย แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังสำคัญ โดยต้องตั้งเป้าหมายให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50% เพราะประเทศที่คุมได้ดีจะฉีดวัคซีนกระตุ้นเกิน 50%”
.
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตยังเลข 3 หลัก ฉีดวัคซีนโควิดแล้วกว่า 132 ล้านโดสจากประชากรกว่า 70 ล้านคน ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 36.6% ยังห่างไกลจาก 50% จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หากต้องการให้ตัวเลขเสียชีวิตเหลือ 2 หลัก ตอนนี้ยังเลข 3 หลัก อย่างไรก็ตาม 3-4 วันที่ผ่านมาเริ่มเห็นตัวเลขไม่ค่อยขึ้นในผู้ป่วยปอดอักเสบ หากนิ่งแบบนี้เรื่อยๆ ภายใน 1-2 สัปดาห์ เราจะเห็นตัวเลขเสียชีวิตลดลง
.
ขณะที่แนวโน้มของการเป็นโรคประจำถิ่นนั้น สถานการณ์ในเวลานี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศในขณะนี้ ยังไม่เข้าข่ายของการเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ได้อีก
.
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ทิศทางโควิดจะเป็นโรคประจำท้องถิ่นนั้น จากข้อมูลคือ การเกิดขึ้นของโอมิครอนเกือบ 5 เดือนแล้วที่โลกได้รู้จัก และข้อมูลยังเหมือนกัน คือ ความรุนแรงต่ำกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่สายพันธุ์นี้แพร่เร็วกว่าเดลตา อย่างไรก็ตาม โอมิครอนมีคุณลักษณะแพร่กระจายเร็ว และไม่รุนแรง จึงทำให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยมองว่า น่าจะถึงเส้นที่โควิดจะเดินทางไปสู่โรคประจำถิ่น ทั้งนี้ ความเหนื่อยล้าจากการที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการล็อกดาวน์ เป็นครั้งคราว มีการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล สังคมไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนเดิม ต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องทำงานต้องเรียนทางไกล ซึ่งทุกคนอยากเห็นโควิด19 ไปสู่ปลายทางการแพร่ระบาด และนำไปสู่โรคประจำท้องถิ่น
.
อย่างไรก็ตาม สำหรับนิยามกว้างๆ ของโรคประจำท้องถิ่น เป็นโรคที่พบได้สม่ำเสมอในกลุ่มคน กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่คาดการณืได้ อาจมีการระบาดมากบ้าง เป็นครั้งคราว แต่มักไม่เกินระดับที่คาดหมาย โดยทั่วไปเป็นโรคที่มีมาตรการหรือวิธีการควบคุม ที่สำคัญที่ต้องย้ำคือ โรคประจำถิ่นยังมีอัตราการเสียชีวิตได้ อย่างโรคมาลาเรีย หรือไข้ป่า จนถึงตอนนี้ยังคร่าชีวิตคนปีละกว่า 4 แสนราย หรือบางโรคอย่างเริ่ม เป็นการติดเชื้อ Herpes ซึ่งอาจพบได้มากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรบางพื้นที่ แต่เพียงมีอาการไม่มาก
.
“สถานการณ์เวลานี้ การติดเชื้อโควิดยังไม่เข้าข่ายของโรคประจำท้องถิ่นและยังมีโอกาส แม้จะดูไม่มาก ที่กลับเกิดการแพร่ระบาดใหญ่อีก จึงยังไม่อยากให้ประมาท ที่สำคัญนิยามโรคประจำท้องถิ่นก็ไม่ได้เหมือนกันหมด” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
.
นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หลากหลายประเทศก็เริ่มมีนโยบายให้เกิดสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดมองให้ดีก็อาจเป็นปัจจัยความเสี่ยงให้โควิดกลับมาแพร่ระบาด แต่เราก็ต้องวิ่งไปให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราต้องบริหารความเสี่ยงของโควิด โดยเน้นการป้องกัน และการรักษา สำหรับไวรัสที่แพร่กระจายมากมาย จะป้องกันไม่ให้ติดเชื้อค่อนข้างยาก แต่ลดการติดเชื้อได้ และหากติดเชื้อแล้วและไม่รุนแรง และไม่เสียชีวิตจะเป็นเป้าหมายที่ดี
.
การป้องกันความเสียหายของโควิด วิธีดีที่สุด ณ เวลานี้ คือ การฉีดวัคซีน 2 เข็มหลักและเข็มกระตุ้น ซึ่ง 2 เข็มหลักไม่พอ ต้องมีเข็มกระตุ้น และคู่ขนานกับการใส่หน้ากากอนามัย โดยโควิด19 เมื่อมีการกลายพันธุ์ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลง ยิ่งเจอโอมิครอน ดังนั้น มาตรการการป้องกันตัวเอง อย่างการใส่หน้ากากอนามัยจึงสำคัญ รวมทั้งการตรวจ ATK เมื่อจำเป็น อย่างไรก็ตาม สำหรับสมดุลการรักษาโควิด “โอมิครอน” ตอนนี้ไม่เน้นการรักษาในรพ. เพราะอาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง จึงมีแนวโน้มให้รักษานอก รพ. และมีการเฝ้าติดตามผ่านระบบการลงทะเบียน เพื่อให้เตียงใน รพ.ว่าง ในการดูแลคนที่เป็นโรคอื่นๆที่ไม่ใช่โควิด แต่จำเป็นต้องรักษาใน รพ.
.
สำหรับคนกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ไม่ใช่แค่ 608 แต่คนไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดครบ 2 เข็มแล้วแต่เกิน 3 เดือนขึ้นไป คนเหล่านี้หากมีอาการ แม้เล็กน้อยก็ต้องรีบเข้ารพ. โดยจากการติดตามข้อมูล 6-8 สัปดาห์ ในแต่ละวันที่มีคนเสียชีวิตพบว่าประมาณ 50-60% ไม่ได้ฉีดวัคซีน และประเทศไทยเรายังมีคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 2 ล้านคน และพบว่า 30% หรือ 1 ใน 3 คน คือคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม และเข็ม 2 เกิน 3 เดือนแล้ว และไม่ได้กลับมาฉีด อีกทั้งยังมี 10% ฉีดไปแล้ว 1 เข็ม แต่ไม่ฉีดต่อ รวมๆ 3 ตัวเลขนี้เกือบ 90% ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนไม่สมบูรณ์จะเสี่ยงด้วย
.
“เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกเตือนอย่างเป็นทางการว่า โควิดยังไม่ได้เข้าสู่สถานการณ์เป็นโรคประจำท้องถิ่น แม้มีแนวโน้ม แต่ยังไม่ถึง และอาจเกิดการกลายพันธุ์ และในบางประเทศอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก สรุปคือ อย่าด่วนตัดสิน จนละเลยสิ่งต่างๆ ที่เราทำกันมา 2 ปี ” นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
.
ความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่กำหนดมาตรการและนโยบาย ต้องมีความรอบคอบในการกำหนดมาตรการ ต้องชัดเจนเพื่อเอาไปปฏิบัติ ฝ่ายที่ดำเนินการตามมาตรการและนโยบายก็ต้องมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่บุคลากรสุขภาพ แต่ผู้ประกอบการด้วย และฝ่ายที่ได้รับผลจากมาตรการและนโยบาย ต้องได้รับความร่วมมือและมีวินัยในการดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญของช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ คือ การฉีดวัคซีนจำเป็นต้องเข็มกระตุ้น และการเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพ คือ คน ของ เตียง และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะช่วยกันป้องกันการรับเชื้อและแพร่เชื้อ
Discussion about this post