
วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ที่ปางช้างแม่แตง ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัยจีโนมิกซ์และทรัพยากรชีวภาพสัตว์ กล่าวกรณีมหาวิทยาลัย ร่วมกับปางช้างแม่แตง จัดนิทรรศการศิลปะเพื่อช้าง (Art for Elephant) วันที่ 23 พฤษภาคมนี้ ที่อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า ได้ลงพื้นที่ทำการวิจัยที่ปางช้างแม่แตง เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งได้รับทราบปัญหาผลกระทบโควิด 19ทำให้ปางช้างขาดแคลนรายได้ดูแลช้างกว่า 60 เชือก จึงเสนอผลงานวิจัย พรอมนิทรรศการดังกล่าว เพื่อประมูลภาพวาดช้าง และกลุ่มศิลปินเพื่อช้าง อาทิ อ.พรชัย ใจมา ศิลปินรางวัลศิลปาธร แห่งพิพิธภัณฑ์หอศิลปินเชียงใหม่ น.ส.สุชาดา ปัญญากาบ หรือครูน้อง ที่มาร่วมวาดภาพกับศิลปินช้าง เพื่อหารายได้ช่วยเหลือช้างดังกล่าว
“งานวิจัยที่ปางช้างแม่แตง เป็นโครงการวิจัยการถอดรหัสพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ของช้างไทย เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจีโนอ้างอิง เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยขน์อย่างยั่งยืน โดยตรวจดีเอ็นเอช้างปางช้างแม่แตงทุกเชือก เพื่อหาแหล่งกำเนิดของช้างดังกล่าว ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ เป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์สายพันธุ์ช้าง ที่ไม่สามารถสวมรอยได้ ก่อนออกตั๋วรูปพรรณ หรือทำบัตรประชาชนช้าง เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของช้างที่แท้จริงด้วย” รศ.ดร.ครศร กล่าว
นายธีรภัทร์ ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ในฐานะผู้บริหารปางช้างภัทร กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งศิลปินช้างน้อยที่วาดรูปได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างดี และได้แสดงศักยภาพตามความสามารถ เนื่องจากมีขนาดมันสมองที่ใหญ่มาก สามารถเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างดีเพราะช้างมีกล้ามเนื้อกว่า 40,000 มัด ที่ใช้งวงจับพูกันวาดรูปได้นับเป็นเรื่องยินดีที่กลุ่มศิลปินเพื่อช้าง ได้ทำงานร่วมกับศิลปินช้างน้อย เพื่อสร้างสรรค์งานระดับชาติ ที่เป็นมาสเตอร์พีช หรือชิ้นเดียวในโลก ต้องขอบคุณควาญช้างที่ดูแลและฝึกฝนช้างเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะดังกล่าว ซึ่งเป็นการแสดงนิทรรศการระหว่างช้างกับมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก

ส่วนประชากรช้างในประเทศ เมื่อปี 2500 หรือ 65 ปีที่ผ่านมา มีประชากรช้าง กว่า 12,000 เชือก ก่อนโควิด 2 ปีที่แล้ว เหลือช้างเพียง 3,800 เชือก ลดลงกว่า 70 % ปัจจุบันมีการสูญเสียช้างมากขึ้น โดยเฉพาะช้างป่า ดังนั้นการวิจัยดีเอ็นเอช้าง จึงเป็นการรักษาพันธุ์ช้างไทยให้คงอยู่ และเพิ่มประชากรช้างในอนาคตด้วย
ด้าน ดร.บุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง กล่าวว่านิทรรศการดังกล่าว มีภาพวาดศิลปินช้าง 3 เชือก คือ พลายธันวาพังสุรีย์ และพังสุดา ซึ่งเคยวาดภาพร่วมกับศิลปินชื่อดัง ก่อนนำภาพวาดไปประมูลหารายได้ โดยภาพดังกล่าวมีผู้ประมูลในราคาล้านบาทมาแล้ว ส่วนนิทรรศการดังกล่าว มีการประมูลภาพวาดจำนวน 45 ภาพ ขนาด 80 X 110 เซนติเมตร ถ้าเป็นภาพวาดศิลปินช้างน้อย เริ่มต้นประมูล 3,000 บาท หากเป็นภาพวาดร่วมกับศิลปินชื่อดัง ประมูลเริ่มต้น ภาพละ 10,000 บาท คาดมีรายได้จากการประมูลไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านบาท เพื่อหารายได้มอบเป็นค่าอาหารและค่ารักษาพยาบาลช้างป่วยต่อไป
//////////////////////////
“
Discussion about this post