วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ที่สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนม นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงนี้จังหวัดนครพนมเริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำโขงเพิ่มระดับวันละประมาณ 10 -20 เซนติเมตร ล่าสุดอยู่ที่ระดับประมาณ 4 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งที่เคยรับได้สูงสุด 13 เมตร อยู่ที่ประมาณ 9 เมตร ส่วนลำน้ำสาขาสายหลักอื่น ๆ เช่น ลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ก็มีปริมาณเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกัน ดังนั้นเทศบาลเมืองนครพนม จึงได้มีการเตรียมพร้อมในการดูแลพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลเมืองนครพนมหากมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
โดยมีการวางแผนป้องกันน้ำเอ่อท่วมกรณีน้ำไหลระบายลงแม่น้ำโขงไม่ทัน ซึ่งก็ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบดูแล ปรับปรุงพัฒนาและขุดลอกกำจัดสิ่งปฏิกูลตามท่อระบายน้ำในจุดเสี่ยงต่าง ๆ มีการตรวจเช็คเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ รวม 7 จุด ที่มีการติดตั้งเอาไว้เพื่อให้พร้อมใช้งานหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน รวมทั้งมีการประสานสำนักงานชลประทานจังหวัดนครพนม เพื่อขอกำลังและอุปกรณ์เสริมสนับสนุน ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพิ่มเติมในจุดเสี่ยง ซึ่งคิดว่าจากแผนงานที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องทุกปีในช่วงฤดูฝนค่อนข้างได้ผล ยกเว้นกรณีที่ฝนตกลงมาในปริมาณที่มากในจุดเดิม ๆ ก็อาจจะมีน้ำรอการระบาย แต่ทุกจุดมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอระบาย ทั้งในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ เขตชุมชน และเขตเทศบาลเมืองนครพนม โดยเฉพาะบริเวณถนนเส้นที่มีการตัดใหม่ เพราะมีการถมคลองเพื่อขยายผิวจราจร ซึ่งแผนทั้งหมดคาดว่าจะสามารถเตรียมความพร้อมแล้วเสร็จภายในอาทิตย์นี้ แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ไม่แน่นอน ประกอบน้ำสมทบที่ไหลมาจากทางเหนือไม่สามารถคำนวนได้ว่าจะเป็นอย่างไร และน้ำที่จะเอ่อบริเวณท้ายเมืองมีเท่าไหร่ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมาบริหารจัดการน้ำในส่วนนี้ให้ดี แต่ถ้าเป็นกรณีทั่วไปทางเทศบาลเมืองนครพนมสามารถป้องกันได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ดี ก็ได้สั่งให้มีการเตรียมความพร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อค่อยออกปฏิบัติหน้าที่ทันที่หากมีเหตุฉุกเฉินพร้อมกับเครื่องมือและอุปกรณ์ เครื่องสูบน้ำ
ส่วนในระยะยาวก็ได้มีการจัดทำแผนร่วมกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครพนม ในการจัดทำระบบระบายน้ำ เริ่มจากถนนอภิบาลบัญชา ข้ามถนนนิตโย ไปยังหนองกระตืก หนองหัวช้าง หนองเบน และออกลำรางสาธารณะห้วยฮ่องฮอ เพื่อไหลลงสู่ลำน้ำโขง ซึ่งถ้าแล้วเสร็จจะช่วยในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายได้อีกจำนวนมาก โดยแผนงานโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณผูกพัน 4 ปี ซึ่งปีแรกจะนำร่องด้วยงบประมาณ 35 ล้านบาท
Discussion about this post