วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้แถลงข่าวการบริหารจัดการน้ำ ช่วงฤดูฝน ปี 2565 ว่ากรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนถึงกลางตุลาคมนี้ คาดว่ามีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติร้อยละ 3 แต่ต่ำกว่าปีแล้ว ที่มีค่าร้อยละ 8 อาจมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง เพิ่มเป็น 160-170 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 80 % ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด คาดมีน้ำไหลเข้าเขื่อน เพิ่มเป็น 82 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าปีแล้วที่มีปริมาณน้ำเพียง 49 ล้านลูกบาศก์เมตร
“ช่วงฝนตก 2-3 วันที่ผ่านมา มีน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัด 4.55 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่กวง 900,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 117 แห่ง มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก จากการติดตามตรวจสอบพบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่สภาพปกติ แข็งแรง ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่พัดผ่านภาคเหนืออย่างใด แต่ปริมาณฝนที่ตกลงมาทางทิศตะวันตกชองเชียงใหม่ ส่งผลมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิง 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้ระดับน้ำปิงเพิ่มสูงขึ้นด้วย” นายสุดชาย กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชลประทานได้มีแผนทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ไม่ได้ยกเลิก พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ อาทิ ผักตบชวา และวัชพืช เพื่อให้น้ำไหลสะดวกไม่ล้นตลิ่ง เนื่องจากมีพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย หรือน้ำท่วมซ้ำซาก 4 พื้นที่ คือ ทิศเหนือ แม่น้ำปิงที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ ทิศตะวันตก เทือกเขาดอยสุเทพ-ปุย ทิศตะวันออก ลำน้ำแม่ออนลำน้ำโฮม และน้ำแม่ปูคา ที่ไหลท่วม อ.สันกำแพง รวมทั้งลำน้ำสาขาปิงและลำน้ำฝาง โดยจัดตั้งศูนย์ประมวลและติตามสถานวการณ์น้ำ พร้อมตรวจสอบอาคารชลประทาน 67 แห่ง เตรียมเครื่องสูบน้ำ 78 เครื่อง และเครื่องจักร-อุปกรณ์ อีก 68 หน่วยงาน
นอกจากนี้ชลประทาน ได้ ถ่ายโอนภารกิจอ่างเก็บน้ำไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในเชียงใหม่ จำนวน 26 อ่างจาก 117 อ่าง ยกเว้นอ่างเก็บน้ำโครงการพระราชดำริ ที่ชลประทานดูแลเอง โดยท้องถิ่นสามารถเพิ่มช่าง-วิศวกร และตั้งงบประมาณดูแลบำรุงรักษาอ่างดังกล่าวได้ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
///////////////////////////
Discussion about this post